xs
xsm
sm
md
lg

บสย.,กพร. สร้างอาชีพคนตกงาน อุ้มแรงงาน 9.5หมื่นคน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บสย. , กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน บูรณาการฝ่าโควิด-19 พลิกวิกฤติว่างงาน สร้างทักษะ ยกระดับฝีมือ ให้โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ด้วย“โครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ” คาดว่า จะสร้างอาชีพคนตกงาน 95,000 คน เกิดสินเชื่อในระบบสร้างอาชีพอิสระ 29,300 ล้านบาท

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. สนับสนุนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เพื่อช่วยเหลือตลาดแรงงานที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งกลุ่มตกงาน ว่างงาน และแรงงานกลุ่มที่มีความสามารถด้านงานช่าง หรือ อาชีพอื่นๆ ที่ต้องการก้าวสู่ชีวิตใหม่ เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ภายใต้แนวคิด “บสย. เพื่อนแท้ SMEs ไทย ทางรอดใหม่ คู่ใจยามวิกฤติ” มอบโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดย บสย. ให้การค้ำประกันสินเชื่อ จากกลุ่มธนาคารพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ ให้กับกลุ่มแรงงานที่ได้พัฒนาเพิ่มทักษะและฝีมือจาก กพร.

ความร่วมมือครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการมีพันธกิจใกล้เคียงกัน ในการช่วยเหลือของ บสย. และ กพร. ที่ช่วยเหลือแรงงานและกลุ่มคนตกงาน บัณฑิตจบใหม่ให้มีทางรอดโดยเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ในโครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ ขณะเดัยวกัน บสย. ยังได้นำเสนอศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) ที่เป็นทั้งที่ปรึกษาทางการเงินและศูนย์ให้ข้อมูลความรู้ เข้าสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระในธุรกิจต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยกันยกระดับฝีมือแรงงาน เช่น ช่างชุมชน ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างซ่อมรถ ช่างแอร์ ช่างตัดผม ช่างก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมแรงงานที่ตกงานให้เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับการสนับสนุนด้านสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพแบบครบวงจร

ปัจจุบัน สถานการณ์ด้านแรงงานของไทย ยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 จากข้อมูลไตรมาส 2/2563 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า มีผู้ว่างงานสะสม 1.6 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มผู้ว่างงาน 1.1 ล้านคน และ กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคน

มีกำลังแรงงาน (ประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-60 ปี) 38.2 ล้านคน และประมาณการณ์ในไตรมาส 4/2563 จะมีผู้ว่างงานสะสม 2.5 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานสะสม 6.5% แบ่งเป็นกลุ่มผู้ว่างงาน 2 ล้านคน กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคน และมีกำลังแรงงาน 38.4 ล้านคน

ความร่วมมือระหว่าง บสย.และ กพร. จะนำไปสู่ผลสำเร็จ 3 สร้าง คือ 1.สร้างความรู้โดยพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อยอดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ 2.สร้างอนาคตโดยให้เข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น 3.สร้างโอกาสเชื่อมโยงธุรกิจต่อยอดด้านการขาย โดย บสย. ทำหน้าที่สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินที่มีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ร่วมเข้ากับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ไทยชนะ และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Start up & Innobiz สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

สำหรับธนาคารที่พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อขณะนี้ มี 4 ธนาคาร ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระ 8 โครงการ ประกอบด้วย 

1. ธนาคารออมสิน จำนวน 5 โครงการ คือ โครงการสินเชื่อเพื่อ Street food วงเงิน 3 ล้านต่อราย  ,โครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ วงเงิน 1 ล้านบาทต่อราย  ,โครงการสินเชื่อประชาชนสุขใจ วงเงิน 200,000 บาทต่อราย  ,โครงการสินเชื่อสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 50,000 บาทต่อราย ,โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 50,000 บาทต่อราย 

2. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อธุรกิจรายย่อย วงเงิน 200,0000 บาทต่อราย 

3. ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ วงเงิน 200,000 บาทต่อราย 

4. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อฮักบ้านเกิด 

กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. คาดว่า โครงการนี้ จะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบจากการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. 29,300 ล้านบาท ช่วยอุ้มแรงงาน 95,000 คน ให้กลับมามีอาชีพและทางรอดในการฝ่าวิกฤติโควิด-19

ทางด้าน กพร. จะช่วยเหลือแรงงาน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างและต้องการสร้างอาชีพ 2. กลุ่มผู้ว่างงาน ที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระ และ 3. กลุ่มที่ให้ความรู้ด้านช่างและอาชีพต่างๆ ที่ต้องการผันตัวเองเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ

ทำหน้าที่ให้ความรู้และฝึกทักษะต่างๆ ภายใต้ 3 หน่วยงานหลักคือ 1. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 77 ทั่วประเทศ ในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงาน 2. สำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก หน่วยงานทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและหลักสูตรการอบรม Online 3.กองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ ดูแลและให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบการตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน รับรองความรู้ความสามารถ การประกันคุณภาพ และ แอปพลิเคชั่น “รวมช่าง” เพื่อเป็นศูนย์รวมช่างมืออาชีพ ถือเป็นการสร้างทางรอดอย่างยั่งยืนและช่วยลดอัตราการว่างงานในระบบ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานฐานรากที่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ




กำลังโหลดความคิดเห็น