xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีผลผลิตอุตฯส.ค.ขยายตัว4.81%ส่งสัญญาณ ศก.ฟื้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2563 ขยายตัว4.81% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สะท้อนภาคอุตสาหกรรม ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ แต่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่างประเทศ ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก2ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ หันมาให้ความสำคัญการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2563 ขยายตัว 4.81 % จากเดือนก่อน เป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4  ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนสิงหาคม ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 60.69 จากเดิมที่ระดับ 57.58 

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อย ๆ ฟื้นตัว หลังจากที่ภาครัฐ คลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด ให้กลับมาเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนสิงหาคมขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 60.69 ใกล้เคียงกับสภาวะก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

เช่นเดียวกับกำลังซื้อภายในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.50% ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และหดตัวในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 6 เดือน แต่สถานการณ์ต่างประเทศ ยังประสบปัญหาในการควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศให้ชะลอตัวลง

ดังนั้นภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน

นายทองชัย  กล่าวว่า อุตสาหกรรมหลัก ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (หักน้ำตาล) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.40%  อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  10.50%  และจากผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรเตรียมพร้อมที่จะเพาะปลูกอีกครั้ง

ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหลักๆ เริ่มฟื้นกลับมาโดยเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ได้เพิ่มกำลังการผลิตในเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่ระดับ 59.81 จากระดับ 45.85 ในเดือนก่อน โดยความต้องการจากตลาดในประเทศขยายตัว 16.10%  หลังผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดสายการผลิตครบทุกค่ายรถแล้ว รวมทั้งมีการทำกิจกรรมกระตุ้นตลาดในประเทศ ประกอบรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนสิงหาคม ได้แก่

- ปุ๋ยเคมี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 66.76%  เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวได้ตามปกติจึงมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น

- เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.60%  จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า โดยตู้เย็น ผู้บริโภคภายในประเทศยังมีความต้องการสำรองอาหารสดเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับลดราคาเพื่อขยายฐานลูกค้า ในขณะที่เครื่องซักผ้าได้มีการเปิดช่องทางการตลาดใหม่ ทำให้มีคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกเพิ่มขึ้น ไปยังประเทศมาเลเซียและญี่ปุ่น

- เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.75%  จากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนทำด้วยไม้และโลหะ เนื่องจากผู้ผลิตได้เร่งผลิตให้ทันส่งมอบทั้งตลาดในประเทศและส่งออก โดยเป็นคำสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กและราคาไม่สูงมากส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

- อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.82%  จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง เนื่องจากความต้องการมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

- อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.42%  เนื่องจากมีความต้องการสินค้าจำนวนมากหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลกโดยเฉพาะในตลาดส่งออกสำคัญยังมีการระบาดอยู่ ประกอบกับช่องทางการค้าปลีกมีการขยายตัวได้ดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น