ธปท.,สศช.ม.หอการค้าไทย กำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องเอสเอ็มอี เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา คาดว่า จะบังคับใช้เดือนธันวาคม25 63
นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำแนวทางการกำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit term ) ในประเทศไทย ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ ศบศ. แล้ว หลังจากนี้ทาง สศช. จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ต้นเดือนธันวาคม 2563
หลังจาก ครม.เห็นชอบแล้ว จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าไปพิจารณาทำรายละเอียดและกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งบทลงโทษ ซึ่งจะมีทั้งเบี้ยปรับ และการจ่ายดอกเบี้ยให้คู่ค้าด้วย
นายจิตเกษม กล่าวว่า เบื้องต้นจะทำกับรายใหญ่ก่อน โดยอุตสาหกรรมภาคการผลิต จะต้องมีรายได้ 500 ล้านบาทต่อปี การจ้างงาน 200 คน ,ด้านภาคบริการ รายได้ 300 ล้านบาทต่อปี การจ้างงาน 100 คน
นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษา ประจำสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าที่เอสเอ็มอีได้รับ จากคู่ค้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60-120 วัน ส่งผลให้เอสเอ็มอี มีความเสี่ยงที่ จะขาดสภาพคล่องจากการถูกขยายเวลา Credit term ซึ่งหลักเกณฑ์ที่วางไว้ จะใช้สำหรับการซื้อ-ขายระหว่างภาคธุรกิจ โดยให้มีผลบังคับใช้และบทลงโทษทางกฎหมาย รวมถึงมีแรงจูงใจด้านบวกให้กับภาคธุรกิจ ที่ปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด
นางเสาวนีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจหรือเป็นคู่ค้าให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ และบางส่วนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย ถูกขยายเวลา Credit term ยาวขึ้น เนื่องจากมีอำนาจในการต่อรองค่อนข้างมาก ซึ่งบางครั้งพบว่า มีการขยายเวลาการชำระถึง 120 วัน ทำให้เอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบในด้านสภาพคล่อง
ด้าน น.ส.ฐิตา เภกานนท์ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. กล่าวว่า หลักเกณฑ์เบื้องต้น คือ 1. จะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term โดยลูกหนี้การค้า ต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายในเวลา 30-45 วัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเภทธุรกิจ
2.กำหนดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยข้อมูลระยะเวลา Credit term โดยเฉลี่ยในการจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และนำข้อมูลดังกล่าวเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการประเมิน socially responsible investing เช่น การประเมินให้ตราสัญลักษณ์ของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
3.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจสำหรับภาคธุรกิจให้มีแนวปฏิบัติที่ดี ในการลดเวลา Credit term เช่น กรมบัญชีกลางจัดสรรโควต้าสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สถาบันการเงินกำหนดสิทธิพิเศษทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ