xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกส.ค.-7.9% คาดทั้งปี -8% เกาะติดโควิดรอบ2

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่งออกไทยเดือนสิงหาคม ติดลบ 7.94% หดตัวในอัตราลดลง ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากจุดต่ำสุดเมื่อเดือนมิถุนายน สนค. มั่นใจยอดทั้งปี ติดลบไม่มากถึง 2 หลัก คาดหวังโควิด-19 ไม่รุนแรงขึ้นอีก หวั่นกระทบการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือ สนค. รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนสิงหาคม 2563 พบว่า การส่งออก มีมูลค่า 20,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 7.94% , นำเข้า มีมูลค่า 15,863 ล้านดอลลาร์ฯ ติดลบ 19.68% ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 4,349 ล้านดอลลาร์ฯ

หากรวม 8 เดือนปี 2563 ส่งออก มีมูลค่า 153,375 ล้านดอลลาร์ฯ ติดลบ 7.75% ,นำเข้า มีมูลค่า 134,981 ล้านดอลลาร์ฯ ลบ 15.31% เกินดุลการค้า 18,394 ล้านดอลลาร์ฯ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ส่งออกไทย หดตัวน้อยลง และมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมูลค่าส่งออก กลับมาแตะระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในรอบ 5 เดือน และเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ผลจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ และอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะจีน

ผู้อำนวยการ สนค. มองแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามการแพร่ระบาดของโควิดในหลายประเทศ โดยเฉพาะเมียนมา ,กัมพูชา ,เวียดนาม ซึ่งกระทบการค้าชายแดน รวมทั้งจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่ง สนค.ยังคาดการณ์ยอดส่งออกทั้งปีนี้ จะติดลบ 8% คงไม่ติดลบมากถึง 2 หลัก ตามที่หลายหน่วยงานคาดการณ์

สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดี มี 3 กลุ่มหลัก คือ 1. สินค้าอาหาร เช่น ข้าวพรีเมียม ข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง

2.สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า ,โซลาร์เซลล์ 

3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ขยายตัวถึง 125.9% โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น จีนและเยอรมนี โดยมีคำสั่งซื้อยาวไปถึงปลายปี 2564 เชื่อว่า จะเป็นสินค้าอนาคตดี ต่อเนื่องอีก 2-3 ปี รวมทั้งการส่งออกทองคำ ขยายตัวในระดับสูงจากปัจจัยด้านราคา ตามความต้องการลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัย






กำลังโหลดความคิดเห็น