xs
xsm
sm
md
lg

ครช.เรียกร้องส.ส.- ส.ว. ยกมือหนุนเลือกตั้ง ส.ส.ร.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะครช. ยื่นข้อเรียกร้องถึง ส.ส.- ส.ว. ให้สนับสนุน ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ด้านประธานวิปฝ่ายค้าน พร้อมเปิดรับชี้มีเจตนารมณ์ตรงกัน

ที่รัฐสภา กลุ่มคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นหนังสือเรียกร้อง ต่อตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล

โดยนายอนุสรณ์ กล่าวว่า วันนี้ ต้องการมายื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้ ส.ว. ยกมืออย่างน้อย 84 เสียงรับหลักการในญัตติขอแก้รัฐธรรมนูญ โดยต้องเลือกฉบับที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเท่านั้น และ ส.ว.จะต้องยกมือรับหลักการในญัตติการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน ที่ว่าด้วยการปิดสวิตซ์ ส.ว. เพราะเห็นว่าส.ว.เป็นปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นที่มาและอำนาจของ ส.ว. ซึ่งจะสอดคล้องกับข้อเสนอของประชาชน

นอกจากนี้ ตนขอยื่นหนังสือเรียกร้องไปถึง ส.ส.ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนโดยเฉพาะ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเรากังวลใจว่าหากมีการแต่งตั้ง ส.ส.ร.เข้ามา จะทำให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจแทรกแซงทำให้ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงจึงเรียกร้องให้ ส.ส. ยกมือรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับที่กำหนดให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเท่านั้น รวมถึงการปิดสวิตซ์ส.ว.ด้วย และการแก้ไขจะต้องแก้ไขได้ทุกหมวดทุกมาตรา

ด้าน นายสุทิน กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า เ แนวทางที่ ครช.และเครือข่ายภาคประชาชนนำเสนอสอดคล้องกับฝ่ายค้านด้วย คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเปิดทางให้มี ส.ส.ร. ซึ่งต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้ง 200 คน และในช่วงที่ ส.ส.ร. ยังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่แล้วเสร็จ แต่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เราก็เป็นผู้ริเริ่มเสนอให้มีการแก้ไขรายมาตราเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน และ ส.ส.ร. จะยังคงอยู่ วันนี้เราพยายามปิดช่องเพื่อไม่ให้รัฐบาลต่ออายุตัวเองไม่เตะหมู เข้าปากหมา

ดังนั้น ในการพิจารณาวาระแรก ขอให้พิจารณาอย่างกระชับครบถ้วน และเมื่อผ่านแล้วขอให้พิจราณาในชั้นกรรมาธิการสั้นที่สุดเพียง 2 สัปดาห์ และฝ่ายค้านคิดว่าจะขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญเดือนตุลาคมเพื่อให้จบช่วงปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือน พฤศจิกายน นี้

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ เรายังวางใจไม่ได้ว่าฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้ไขจะใช้วิชามารอะไรหรือไม่ เราจึงต้องทำงานหนัก เพราะหาก ส.ว. ยกมือสนับสนุนครบ 84 เสียง แต่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่ยกมือให้ก็ไปไม่รอด หลักใหญ่อยู่ที่รัฐบาลว่าจะเอาอย่างไรก็อยากให้เรียกร้องไปยังฝ่ายรัฐบาลด้วย ส่วนการเสนอให้พิจารณาแก้หมวด 1-2 นั้น ในชั้นแปรญัตติสามารถตัดออกหรือเพิ่มเติมเนื้อหาสาระได้ทุกมาตรา ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการว่าจะดำเนินการอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น