กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สรุปนโยบาย “ดีพร้อมทันที 90 วัน” ช่วยเหลืออุตสาหกรรมไทยจากพิษโควิด แล้วกว่า 4,300 กิจการ ,สร้างงานบัณฑิตจบใหม่ และคนว่างงานแล้ว กว่า 10,000 คน
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ กสอ. สรุปผลดำเนินงานฟื้นฟูอุตสาหกรรมภายใต้ นโยบาย “ดีพร้อมทันที 90 วัน” ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน ระหว่างเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน 2563 สามารถช่วยเหลืออุตาหกรรมไทย ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1. ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้กว่า 4,300 กิจการ
2. ส่งเสริม 11 วิสาหกิจชุมชน สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village) หรือ หมู่บ้าน CIV 5 ดาว พร้อมรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต
3. ยกระดับธุรกิจเกษตร เป็นเกษตรอุตสาหกรรม กว่า 100 กิจการ เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ 100 ผลิตภัณฑ์ และ 4. สร้างอาชีพให้กับแรงงาน ,บัณฑิตจบใหม่ รวมทั้งคนว่างงาน กว่า 10,000 คน รวมแล้วคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,500 ล้านบาท
อธิบดี กสอ. กล่าวว่า นโยบาย “ดีพร้อมทันที 90 วัน” นำงบประมาณในกิจกรรมที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงปลายปีงบประมาณ 2563 กว่า 150 ล้านบาท มาขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูเร่งด่วนสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรม ดำเนินกิจการต่อไปได้ในภาวะวิกฤติแล้ว ในช่วงปลายปีนี้ กสอ.เตรียมยกระดับเอสเอ็มอีให้เป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ที่ทุกกิจการต้องเร่งปรับตัว ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทย
สำหรับรายละเอียดผลดำเนินนโยบาย “ดีพร้อมทันที 90 วัน” ในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถฟื้นฟูได้กว่า 4,200 กิจการ มีผู้สนใจร่วมอบรมออนไลน์กว่า 100,000 คน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,100 ล้านบาท
รูปแบบการฟื้นฟู เกิดจากการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนและการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อรองรับความเป็นปกติใหม่ หรือ นิวนอร์มอล (New Normal) เช่น การขยายสู่ตลาดออนไลน์ การปรับไลน์การผลิต และการส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพียงพอสำหรับการผลิตเครื่องมือแพทย์ เพื่อรองรับความต้องการด้านสาธารณะสุขที่เพิ่มสูงขึ้น การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ประกอบการ MedChic ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์กว่า 20 กิจการ การต่อยอดนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ สามารถพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์จำนวน 11 ต้นแบบ
ส่งเสริมให้แรงงาน, บัณฑิตจบใหม่ และคนว่างงาน มีงานทำรวมกว่า 10,000 คน ผ่านการปรับ-เพิ่ม-สร้างทักษะใหม่ (Reskill-Upskill-New Skill) สนับสนุนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะทาง เพื่อการทำงาน ณ ภูมิลำเนา เช่นชุมชนห้วยยายจิ๋ว จ.ชัยภูมิ ได้รับการส่งเสริมให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากผลกระทบโควิด ประมาณ40คน มีงานทำทั้งหมด โดยสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น ,ลดรายจ่ายจากเดิมที่ต้องแบกรับภาระค่าที่พัก,ค่าเดินทาง รวม12,000บาทต่อเดือน
ชุมชุม/วิสาหกิจชุมชน ได้พัฒนาชุมชนผ่านการจัดทำแผนพัฒนา ร่วมกับทีมนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เช่น หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หรือ หมู่บ้าน CIV 5 ดาว ชุมชนบางคล้า (Creative Industry Village) ที่ได้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน นำเสนออัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ช่วยสร้างรายได้ให้คนในชุมชน และกระตุ้นการจ้างงานของคนในพื้นที่
เกษตรกร / ธุรกิจเกษตร พัฒนาธุรกิจเกษตรได้กว่า 100 กิจการ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ท้องตลาดกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท เช่น ผลิตภัณฑ์มาดามแมงโก้ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กสอ. คือ ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปอบแห้ง ให้มีองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการวางแผนทำการตลาด ทำให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในช่วงผลผลิตล้นตลาด และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับมะม่วง โดยมีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center) หรือ ศูนย์ ITC 4.0 ในการจัดหาเครื่องจักรกลที่เหมาะสม ทำให้สามารถดำเนินดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ