“แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย” เผยผลสำรวจ 10 อันดับ “วิถีชีวิตแบบใหม่หลังโควิด ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคุณอย่างไร” พบอันดับ 1 คือ พฤติกรรม ช้อปปิ้งออนไลน์ ประเมินมูลค่าธุรกิจช้อปออนไลน์ปีนี้ ทะลุ 2 แสนล้านบาท
“แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย” ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญตลาดแรงงานเชิงนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก รายงานผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 1,124 คน ในหัวข้อ “วิถีชีวิตแบบใหม่หลังโควิดส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคุณอย่างไร” พร้อมเผย 10 อันดับปรากฎการณ์วิถีชีวิตแบบใหม่หลังโควิดที่ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเริ่มเข้าสู่ระยะปลดล็อคมาระยะหนึ่งแล้ว แต่พฤติกรรมหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นวิถีชีวิตแบบปกติใหม่ของผู้คนในปัจจุบัน
พบว่า อันดับที่หนึ่ง 90.91% คือ พฤติกรรมเกี่ยวกับรูปแบบการ ช้อปปิ้งออนไลน์ซึ่งเห็นได้ชัดในสถานการณ์ครั้งนี้ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซ เติบโตพุ่งขึ้นไปอีก ข้อมูลจากบริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด คาดการณ์ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ หรือช้อปออนไลน์ในกลุ่ม C2C หรือ Customer to Customer ไม่รวมบริการจองที่พักโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน ดิจิทัลคอนเทนต์ และบริการอื่นๆ ว่า ในปี 2563 ธุรกิจช้อปออนไลน์ มีมูลค่าที่ 220,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 4-5% ของค้าปลีกทั้งประเทศ
จะเห็นได้ว่า ช้อปปิ้งออนไลน์ในปี 2563 เติบโต 35% จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท สัดส่วน 3% ของค้าปลีกทั้งประเทศ นับว่าโควิด เป็นแรงกระตุ้นให้อัตราการช้อปออนไลน์เติบโตสูงขึ้นมาก
อันดับสอง 81.82% ด้านวิถีการทำงานในรูปแบบ Work from Home เข้ามาปรับพฤติกรรมแรงงานเข้าสู่โหมดออนไลน์โดยมีแพลตฟอร์มการประชุมมากมาย เช่น Zoom Meeting และ Microsoft Meeting เป็นต้น
อันดับที่สาม 72.73% ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป การเดินทางออกมาท่องเที่ยว หรือชมภาพยนตร์ในแบบปกติมีข้อจำกัด ดังนั้น รูปแบบความบันเทิงของผู้คนทั่วไปจึงอยู่ในระบบออนไลน์มากขึ้น มีแอปพลิเคชันบันเทิงในการดูภาพยนตร์ ฟังเพลงให้เลือกใช้บริการมากมายทั้งในแบบฟรีและคิดค่าบริการ ซึ่งเสริมให้ธุรกิจนี้มีการเติบโตเพิ่มขึ้น และกลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ กับอินเทอร์เน็ตมีอัตราการใช้งานที่เพิ่มขึ้นนับเป็นอานิสงค์ให้กับผู้ให้บริการ
อันดับที่สี่กลุ่มบริการ E-Payment หรือการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์คิดเป็น 63.64% ที่มีการใช้บริการเพิ่มขึ้น ปัจจุบันหลายๆ ธุรกิจเพิ่มช่องทางการชำระเงิน รวมถึงภาครัฐและภาคธนาคารผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสด ซึ่งโควิดนับว่าเป็นแรงกระตุ้นให้เราก้าวสู่สังคมไร้เงินได้เร็วยิ่งขึ้นครอบคลุมในการจ่ายเงินในการซื้อสินค้าและบริการ โดยจะเห็นได้จากทุกวันนี้เราใช้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านสมาร์ทโฟน และจ่ายเงินโดยไม่ต้องมีเงินสดแล้ว
อันดับที่ห้า พ่อแม่ผู้ปกครองคงปฏิเสธไม่ได้ เมื่อลูกหลานไม่สามารถไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนแบบปกติไม่ได้ โรงเรียนและครูอาจารย์นำเครื่องมือที่เรียกว่า อี-เลิร์นนิ่ง (E-learning) มาใช้ในการเรียนทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 54.55% ดังนั้น เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้ปกครองมีการปรับตัวเพื่อใช้อี-เลิร์นนิ่ง นอกจากนี้คนในวัยทำงานก็ใช้เครื่องมือนี้ในฝึกอบรมและสัมมนาอีกด้วย
อันดับที่หก ด้านระบบเครือข่ายการสื่อสารหรืออินเทอร์เน็ต ต้องมีความเร็วสูง แรง และเสถียรเพื่อรองรับการใช้งานในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นจากกิจกรรมดังกล่าวในอันดับต้นๆ นับว่ามีสัดส่วนอยู่ที่ 45.45%
อันดับที่เจ็ด ด้านการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยี จึงทำให้มีสมาร์ทดีไวซ์ที่เข้ามารองรับการใช้งานด้านนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Smart Watch และการรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพออนไลน์ คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 36.36%
อันดับที่แปด ด้านซัพพลายเชน 4.0 การบริหารการจัดส่งสินค้าด้วยเทคโนโลยีแอปพลิเคชันที่รองรับการให้บริการมากมาย ทำให้อุตสาหกรรมด้านการให้บริการโลจิสติกส์มีการแข่งขันอย่างมาก ซึ่งหัวใจการให้บริการคือ ความเร็ว ดังนั้น เทคโนโลยีจึงเข้ามาช่วยให้การให้บริการนี้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นับว่ามีสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงในอัตราส่วนไม่น้อยอยู่ที่ 27.27%
อันดับที่เก้า ระบบการผลิตจาก 3D Printing เช่น การผลิตหน้ากากอนามัยให้เข้ากับรูปหน้าของผู้สวมใส่นั้นๆ 18.18%
และอันดับสิบ การนำโดรนและหุ่นยนต์ เข้ามามีบทบาทในการช่วยทำงาน ซึ่งในงานบางอย่างอาจจะไม่ต้องใช้แรงงานคนอยู่ที่ 9.09%
ผลสำรวจครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและตอบโจทย์ จนถึงเป็นแรงขับให้ทุกชีวิตทุกช่วงวัยต้องรับมือโดยการปรับตัวให้รองรับวิถีความปกติแบบใหม่ที่เกิดในช่วงโควิด ดังนั้น หากทุกคนมีการเตรียมตัวและตั้งรับที่ดีโดยเฉพาะภาคแรงงาน แมนพาวเวอร์กรุ๊ปเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนา เป็นสังคมที่มีความก้าวหน้าในระดับนานาประเทศ