สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และ 9 พันธมิตร ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง สำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อให้บริการประชาชนตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ยกระดับการให้บริการดิจิทัลภาครัฐ
นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ลงนามกับ9พันธมิตร คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, สมาคมธนาคารไทย, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี ,กรมสรรพากร, กรมพัฒนธุรกิจการค้า, กรมที่ดิน, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนเงินให้ผู้ยืมเพื่อการศึกษา ร่วมมือ "โครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภาครัฐ" ว่า จะร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง สำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภครัฐ เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน ลดภาระในการติดต่อหรือใช้บริการจากภาครัฐ
ที่ผ่านมาการให้บริการของภาครัฐแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ มีขั้นตอนการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ที่ซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองทั้งเวลาและทรัพยากร เกิดภาระต่อผู้มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันตัวตน ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้บริการดิจิทัลภาครัฐมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำธุรกรรมออนไลน์กับภาครัฐได้สะดวกขึ้น
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นไปตามนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูลของกรมสรรพากร ซึ่งจะช่วยคุ้มครองการเข้าถึงข้อมูล และการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร เช่น การตรวจสอบรายการค่าลดหย่อน ,การยื่นแบบฯ และชำระภาษี ช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้เสียภาษี ทำธุรกรรมภาษีได้ง่าย โดยให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
นางสาว สุธีรา ศรีไพบูลย์ รักษาการประธานกรรมการ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี ชี้แจงหลักการทำงานของการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลเครือข่ายนี้ เป็นเหมือนถนนที่เชื่อมบริการต่งๆไว้ด้วยกัน แต่บริษัทไม่ได้เก็บข้อมูลใดๆ ข้อมูลจะยังคงอยู่ในที่เก็บข้อมูลเดิม หรือ ยังอยู่ที่หน่วยงานต่างๆ โดยประชาชน ในฐานะเจ้าของข้อมูล มีสิทธิเลือกที่จะส่งข้อมูลของตนเอง เพื่อให้กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนรวดเร็ว ถูกต้อง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ เป็นการยกระดับการทำธุรกรรมทางดิจิทัล ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดบริการต่างๆ ตอบโจทย์พฤติกรมของผู้ใช้บริการ ที่เปลี่ยนไป
นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า Digital ID มีศักยภาพในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญกับหน่วยงานต่างๆตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในการทำธุรกรรม ส่งผลให้ปะชาชนเกิดความเชื่อถือในการทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้นด้วย โดยปัจจุบัน มีธนาคารพาณิชย์ 8แห่ง ร่วมทดสอบอยู่ในเซนบ็อกซ์ของ ธปท. คาดว่า จะครบทุกแห่งในอนาคต
ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า ภาคธนาคารโดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานเพื่อให้ประชาชน ทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ สมาคมฯ ได้สนับสนุนสถาบันการเงินของรัฐที่เป็นสมาชิกเข้าร่วม เพื่อให้บริการเป็น Identity Provider หรือ ผู้ทำหน้าที่สำคัญในการพิสูจน์ ยืนยันตัวตน และเป็นผู้รับลงทะเบียนยืนยันการพิสูจน์ตัวตนให้กับผู้ที่จะขอใช้ข้อมูลต่อไป