xs
xsm
sm
md
lg

กรมศุลฯ จับสินค้าเถื่อน 11 เดือนปีงบ 63 กว่า 2 หมื่นคดี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมศุลกากร ตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – สิงหาคม 2563 ทั้งสิ้น 22,966 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 2,993 ล้านบาท


นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร รายงานผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำเดือนสิงหาคม 2563 ตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร จำนวน 1,841 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 322 ล้านบาท หากรวมยอดการกระทำความผิดในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – สิงหาคม 2563 มีทั้งสิ้น 22,966 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 2,993 ล้านบาท

ผลงานที่น่าสนใจในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 เช่น ยาเสพติดให้โทษประเภทเอ็กซ์ตาซี่ : โดยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 กรมศุลกากร ตรวจพบพัสดุต้องสงสัย ต้นทางจากต่างประเทศ จำนวน 2 หีบห่อ จึงประสานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ ศรภ. กองบัญชาการกองทัพไทย และพนักงานบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกันเปิดตรวจพัสดุดังกล่าว ผลการตรวจสอบ พบเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เอ็กซ์ตาซี่) เม็ดสีทอง เม็ดสีฟ้า เม็ดสีเทา เม็ดสีชมพู และเม็ดสีม่วง รวม 9,949 เม็ด น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 4.805 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 ล้านบาท

ทั้งนี้สถิติการตรวจยึดยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – สิงหาคม 2563 มีจำนวนคดี 215 คดี มูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท

บุหรี่ : เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 กรมศุลกากรทำการตรวจสอบสินค้าประเภทอะไหล่รถยนต์ จำนวน 270 CARTONS น้ำหนัก 4,700 KGM ผลการตรวจสอบรายการสินค้าทั้ง 250 รายการถูกต้องตามสำแดง แต่พบสินค้าที่ไม่ได้สำแดงเป็นบุหรี่มวนสำหรับเครื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 50,000 ซอง หรือ 1 ล้านมวน จึงได้ยึดบุหรี่ทั้งหมดเป็นของกลาง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท

สถิติการจับกุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2562 – สิงหาคม 2563 มีจำนวนคดี ได้แก่ 1. บุหรี่ จำนวน 789 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 197 ล้านบาท 2. บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ จำนวน 650 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 14.8 ล้านบาท

น้ำมันดีเซล : เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 กรมศุลกากร ได้นำเรือศุลกากร 1001 ขึ้นเทียบตรวจสอบเรือเหล็กสัญชาติไทย บริเวณท่าเทียบเรือ จังหวัดชลบุรี พบน้ำมันดีเซล มีเมืองกำเนิดต่างประเทศที่ไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงขณะตรวจค้น รวมประมาณ 60,000 ลิตร บรรจุอยู่ในระวางเรือ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านบาท

สถิติการจับกุมน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2562 – สิงหาคม 2563 ได้แก่ น้ำมันดีเซล จำนวน 298 คดี ปริมาณ 5.6 แสนลิตร มูลค่ากว่า 12.1 ล้านบาท น้ำมันเบนซิน จำนวน 354 คดี ปริมาณ 1.5 แสนลิตร มูลค่ากว่า 3.7 ล้านบาท

หอมและกระเทียม : เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2563 กรมศุลกากรตรวจสอบรถบรรทุก12 ล้อจำนวน 1 คัน บริเวณริม ถนนกาญจนวนิช ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พบหอมหัวใหญ่ เมืองกำเนิดต่างประเทศไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงขณะตรวจค้น จำนวน 13 ตัน มูลค่ากว่า 4 แสนบาท 

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2563 กรมศุลกากรได้ตรวจสอบโกดังแห่งหนึ่ง ตำบลไชยมนตรี อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช พบกระเทียม มีเมืองกำเนิดต่างประเทศไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงขณะตรวจค้น จำนวน 8 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนบาท 

ทั้งนี้ สถิติการตรวจยึดสินค้าเกษตร ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – สิงหาคม 2563 มีจำนวนคดี ทั้งสิ้น 593 คดี มูลค่ากว่า 43.6 ล้านบาท

โฆษกกรมศุลกากร ยังชี้แจงการเปิดตรวจพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ตามที่สื่อสังคมออนไลน์ได้กล่าวถึงการปฏิบัติงานของกรมศุลกากร เกี่ยวกับการเปิดตรวจพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศนั้น

กรมศุลกากร ขอชี้แจงในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.การเปิดตรวจพัสดุ : กรณีที่มีการเปิดตรวจสิ่งของที่มีการส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ เพื่อทำการประเมินภาษีอากรของกรมศุลกากร ภายใต้ประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2560 นั้น เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะเปิดตรวจและประเมินค่าภาษีอากรต่อหน้าเจ้าหน้าที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมเปิดด้วยทุกครั้งและเมื่อเปิดตรวจเสร็จสิ้นแล้วจะดำเนินการปิดหีบห่อพัสดุด้วยการคาดเทปกาวพลาสติกที่มีข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ “เปิดตรวจ/ปิดผนึก โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรร่วมกับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์”

2. การประเมินค่าภาษีอากร : กรมศุลกากร จะประเมินค่าภาษีอากรตามแนวของการประเมินราคาศุลกากรภายใต้ความตกลงแกตต์ขององค์การการค้าโลก ทั้งนี้โดยใช้ราคาซื้อขายได้จริงที่รวมค่าขนส่งและค่าประกันภัย (CIF) เป็นฐานในการประเมินค่าภาษีอากร โดยเบื้องต้นจะพิจารณาราคาจากเอกสารรายละเอียดของสินค้าและราคา (Invoice หรือ CP72:CUSTOMS DECLARATION) ที่แนบมากับหีบห่อ เว้นแต่มีข้อสงสัยว่าราคาที่ปรากฏนั้นไม่น่าจะใช่ราคาซื้อขายแท้จริง

3. การโต้แย้งการประเมินค่าภาษีอากร : ในกรณีที่ที่ทำการไปรษณีย์แจ้งให้ไปรับพัสดุไปรษณีย์และชำระค่าภาษีอากร ณ ที่ทำการไปรษณีย์ หากท่านไม่เห็นด้วยกับการประเมินค่าภาษีอากร ท่านสามารถที่จะยื่นคำร้องขอให้ประเมินภาษีใหม่ตามแบบฟอร์มที่กำหนดก่อนการชำระค่าภาษีอากร พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบการโต้แย้ง ทั้งนี้ ให้แนบใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยที่ยังไม่ต้องรับสิ่งของ เพื่อให้ที่ทำการไปรษณีย์นั้น ส่งพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวกลับไปยังหน่วยงานศุลกากรพิจารณาทบทวนความถูกต้องของการประเมินค่าภาษีอากรต่อไป

โฆษกกรมศุลกากร ย้ำว่า อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่า มีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลา ซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการลักลอบ

นอกจากนี้ มีการบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่น ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ทหาร กอ.รมน. ป.ป.ส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่าง ๆ Interpol DEA เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน












กำลังโหลดความคิดเห็น