xs
xsm
sm
md
lg

"รุ้ง ปนัสยา"ยื่น10 ข้อเสนอต่อ กมธ.การเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กมธ.การเมือง รับยื่นข้อเสนอจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ปม แก้รัฐธรรมนูญตั้ง ส.ส.ร. ด้าน "รุ้ง ปนัสยา" แกนนำม็อบธรรมศาสตร์ ย้ำ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน

ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร รับยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ของตัวแทน กลุ่มภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย กลุ่มนักเรียนเลว และ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

โดยนายปดิพัทธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมาธิการอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนที่มีข้อเรียกร้องในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมาธิการคาดหวังว่าฉันทามติในเรื่องของ ส.ส.ร. จะเป็นสิ่งที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุด โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งได้เชิญกลุ่มนักเรียนนักศึกษามาให้ความเห็นว่า ส.ส.ร. ที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้แท้จริงได้อย่างไร


ทั้งนี้ ทางคณะกรรมาธิการ ได้เชิญไปทั้งหมด 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มประชาชนปลดแอก ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการหารือภายในจึงยังไม่ได้เดินทางมาในวันนี้ กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย กลุ่มนักเรียนเลว รวมถึงได้เชิญกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ซึ่งขณะนี้ได้รับการตอบรับแล้วและจะเดินทางมาร่วมในภายหลัง พร้อมยืนยันว่าทุกประเด็นที่ได้รับการเสนอมาจากภาคประชาชนจะต้องได้รับการพูดคุยและได้รับการปกป้องตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ
ด้านนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า จุดประสงค์ที่มาวันนี้คือต้องการมายื่น 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ทางคณะกรรมการได้ช่วยผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่ร่างของ ส.ส.ร. พร้อมเสนอให้เรื่องนี้สามารถพูดคุยได้ในวงสาธารณะ ดังนั้น คาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทางคณะกรรมาธิการ


ขณะที่นายนฤเบศน์ รักษ์วิจิตร กลุ่มภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จุดยืนของภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทยไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พร้อมยืนยันการทำงานของกลุ่มที่ผ่านมาไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือพรรคการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นวันนี้ทางกลุ่มมาเพื่อแสดงตัวว่าพร้อมที่จะเป็นกลางระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และที่สำคัญวันนี้ทุกคนจะได้ทำความเข้าใจว่าประชาธิปไตยในอนาคตที่พวกเราต้องการให้เกิดขึ้นเป็นประชาธิปไตยรูปแบบไหน ประชาธิปไตยอะไร ที่จะเรียกว่ามีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น