สมาคมทีวีดิจิทัล ย้ำจุดยืน ให้ กสทช.เร่งออกประกาศเรียงช่องทีวีดิจิทัล เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน
หวั่นล่าช้า จะทำอุตสาหกรรมทีวีไทย เสียหายหนัก
ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ หลังจากศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาประกาศ "เรียงช่อง" ปี 2558 ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ชั้นอุทธรณ์ โดยนัดไต่สวนวันที่ 25 สิงหาคมนี้
ล่าสุด(14ส.ค.) นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) ) ประกาศจุดยืนของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล เพราะประกาศเรียงช่องเมื่อปี 2558 คือ หัวใจสำคัญในการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และเป็นหัวใจในการเข้าถึงสื่อสาธารณะของผู้ชมทีวี หากต้องเปลี่ยนแปลงประกาศเรียงช่องเมื่อปี2558 จะเกิดความเสียหายมหาศาลต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล
จึงขอเรียกร้องให้ กรรมการ กสทช. เร่งประชุมเพื่อออกประกาศเรียงช่อง โดยขอให้ กสทช.แสดงจุดยืนเคียงข้างผู้ประกอบการ ซึ่งกสทช. จะออกประกาศ ก่อนศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัย หรือ มีคำวินิจฉัยแล้วก็ได้ และหากยังล่าช้า ไม่มีความชัดเจน จนเกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการ จะทำหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี
ก่อนหน้านี้ กสทช. เสนอให้ยกช่อง 1-10 ให้ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี จัดเรียงช่องเองอิสระ ส่วนทีวีดิจิทีล อยู่หมายเลข 11-36 ตามเดิม แต่ยังไม่มีข้อยุติ เพราะต่างฝ่าย ต่างอ้างความเสียหาย ขณะเดียวกัน ท่าทีของ กสทช. ก็ยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ปัญหาได้ตามกรอบเวลาที่รับปากไว้
นายสุภาพ อธิบายว่า ช่องที่ออกอากาศในหมายเลข 1-10 ในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ตามข้อเสนอของ กสทช. ย่อมเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจต่อทีวีดิจิทัล แต่มีต้นทุนต่ำกว่ามาก ไม่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าใบอนุญาต ส่งผลถึงคุณภาพการผลิตของทีวีดิจิทัลในอนาคต กระทบต่อความนิยมและเกิดการตัดราคาค่าโฆษณา หรือ หากศาลปกครองสูงสุดยืนคำพิพากษาตามศาลชั้นต้น จะก่อให้เกิดสูญญากาศสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทันที ทำให้ลำดับช่องรายการไม่เป็นไปตามเดิม ทำให้ผู้ชมสับสนหาช่องเดิมไม่เจอ เป็นโอกาสของเทคโนโลยีการรับชมใหม่ทางออนไลน์ (OTT) ที่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี 5G ทำให้เกิดความเสียหายเกินเยียวยา และอาจถึงจุดล่มสลายของทีวีดิจิทัลสื่อหลักของชาติ