xs
xsm
sm
md
lg

คลังชี้โควิดฉุดจีดีพีต่ำสุดQ2ลบเกิน10%คาดทั้งปี ลบ8.5%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงการคลัง ประเมินจีดีพีทั้งปี 2563 ติดลบ 8.5% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากผลกระทบโควิด-19 โดยจุดต่ำสุด อยู่ในช่วงไตรมาส 2 คาดว่า จะติดลบมากกว่า 10% มองช่วงครึ่งปีหลัง เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว และกลับมาเป็นบวกในปี 2564 เล็งเพิ่มมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว ดึงโรงแรม ,ห้องพักเข้าร่วม “เราเที่ยวด้วยกัน”เพิ่มขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. กลับมารายงานตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือน เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน หลังจากได้หยุดรายงานไปในช่วงการระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค. บอกว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน2563 ยังมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ได้ปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น หลังจากรัฐบาล ทยอยคลายล็อคดาวน์ ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคภาคเอกชน,การลงทุนในหมวดการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น แต่ในด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศ ที่สะท้อนผ่านการส่งออกสินค้าและบริการ ยังชะลอตัว สอดคล้องกับการชะลอตัวในภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว

สศค.คาดการณ์ว่า โควิด จะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 จะติดลบถึง 8.5% ก่อนจะกลับมาขยายตัวในระดับ 4 % ในปี 2564 โดยขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว หลังจากได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาส 2 โดยคาดว่า จีดีพีไตรมาส 2จะติดลบเกินกว่า 10% ซึ่งกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการดูแลที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา

ผู้อำนวยการ สศค. บอกว่า แม้ไทย จะเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 และทำให้จีดีพี ขยายตัวติดลบเป็นประวัติการณ์ แต่หากเปรียบเทียบการดูแลภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติโควิด กับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 พบว่า รัฐบาลมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายการคลังได้มากกว่า ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจ ก็ดีกว่าทุกด้าน ทั้งระดับหนี้สาธารณะ และ อัตราเงินเฟ้อ

นาย ลวรณ บอกด้วยว่า สศค.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมหารือมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติม โดยจะพิจารณาว่า จะสามารถดึงห้องพักและโรงแรมให้เข้าร่วมมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน”ให้มากขึ้นได้อย่างไร โดยปัจุจบัน มีโรงแรมและที่พัก เข้าร่วมประมาณ 6,000 แห่ง จากจำนวนโรงแรมและที่พักในประเทศรวม ประมาณ 60,000 แห่ง

ด้านนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษก สศค. รายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมิถุนายน2563 หลายภูมิภาคปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แม้จะยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเกือบทุกภูมิภาค เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งช่วยกระตุ้นให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

ยกตัวอย่าง ภาคกลาง เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ภายในประเทศดีขึ้น ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้มากขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ หดตัว -38.0% ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัว -41.4%

การลงทุนภาคเอกชนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว 23.3% ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 650 ล้านบาท จากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ กำลัง 5.01 เมกะวัตต์ (กระแสสลับ) ในจังหวัดสระบุรีเป็นหลัก

ส่วนภาคใต้ การลงทุนภาคเอกชนเริ่มดีขึ้น โดยเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัวได้ดี ที่ 491.4% ต่อปี ด้วยเงินทุน 727 ล้านบาท จากโรงงานห้องเย็นที่มีการแปรรูปวัตถุดิบในจังหวัดยะลาเป็นหลัก ทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -2.2% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -3.8% ต่อปี





กำลังโหลดความคิดเห็น