xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีอุตฯฟื้นหลังคลายล็อค ชงรัฐเพิ่มมาตรการช่วยแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับเพิ่มขึ้น ขานรับการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 แต่ผู้ประกอบการ ยังห่วงสถานการณ์จ้างงาน หลังโควิด กระทบลูกจ้างในระบบแล้วกว่า 3 ล้านคน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. รายงานผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2563 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 80.0 เพิ่มจาก 78.4 เมื่อเดือนพฤษภาคม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.อ. บอกว่า มีปัจจัยบวก จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ทำได้มากขึ้น จากการทยอยผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 ,การยกเลิกคำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน, การค้าชายแดนดีขึ้น ส่วนดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 90.1 ลดลงจากระดับ 91.5 เมื่อเดือนพฤษภาคม เพราะผู้ประกอบการกังวลการชะลอตัวของกำลังซื้อในประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้า จากความเปราะบางของภาวะเศรษฐกิจ และความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงฤดูฝนมีไม่มาก ดังนั้นมาตรการภาครัฐที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากโควิด จึงมีความสำคัญมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ประธาน ส.อ.ท. ยอมรับว่า ผลกระทบจากโควิด ทำให้สถานประกอบการใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราว 4,458 แห่ง ส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง 896,330 คน และยังมีลูกจ้างที่ว่างงาน จากกรณีลาออก, เลิกจ้าง จากการปิดกิจการ 332,060 คน รวมทั้งมีผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ที่ใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน 62% กว่า 1,369,589 คำร้อง และคาดว่า จะมีเพิ่มขึ้นอีกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2563 หากมีการขยายมาตรการ รวมจะมีลูกจ้างในระบบที่ได้รับผลกระทบกว่า 3.3 ล้านคน

สำหรับกิจการที่ใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราว มากที่สุด คือ ภาคการผลิต, รองลงมา คือ โรงแรมภัตตาคาร ,บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าและบริการทางธุรกิจ

ภาคเอกชน จึงเตรียมเสนอภาครัฐ ช่วยลดเงินสมทบประกันสังคม ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1% จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ,เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน จากเหตุสุดวิสัย จาก 90 วัน เป็น 150 วัน และขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ จากเดิมวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เป็นจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563




กำลังโหลดความคิดเห็น