กระทรวงคมนาคม กำหนดส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เฟสแรกให้กลุ่มซีพี ภายใน ก.พ. 2564
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน " ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา" ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ครั้งที่ 5/2563 โดยที่ประชุมรับทราบความคืบหน้า การขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่หน่วยงาน ต้องนำมารื้อย้ายสาธารณูปโภค ซึ่งผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) แล้ว อยู่ระหว่างการเสนอโครงการที่วงเงินเกิน 100 ล้านบาทให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ
ส่วนการเวนคืนที่ดิน โยกย้ายผู้บุกรุก และยกเลิกสัญญาเช่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าภาพดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้ประชาสัมพันธ์กับผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดิน รวมถึงการสำรวจรายละเอียดที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และพืชผล โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น จากนั้นจะประชุมและจ่ายค่าทดแทนทั้งหมด ตามแผนจะใช้วิธีการเจรจา คาดว่าจะทำสัญญาซื้อขายกับผู้ถูกเวนคืนและจ่ายค่าทดแทนภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 จากนั้นจะรับมอบที่ดินที่ถูกเวนคืน และส่งมอบที่ดินให้เอกชนคู่สัญญาระยะแรก ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาทั้งหมด 100% ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตามแผน แต่หากเกิดกรณีล่าช้า อาทิ ผู้ถูกเวนคืนยื่นอุทธรณ์อาจต้องใช้เวลาตามขั้นตอน ส่วนเจ้าของที่ดินทักท้วง หรือร้องเรียนจะเคลียร์ให้จบภายในสิงหาคม 2564 ขณะที่การส่งมอบพื้นที่ระยะที่ 2 ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ใช้เวลาดำเนินการอีก 2 ปี 3 เดือน
สำหรับการโยกย้ายผู้บุกรุกที่มีผลกระทบกับโครงการช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมินั้น มีผู้บุกรุก 267 หลังคาเรือน ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มีผู้บุกรุก 302 หลังคาเรือน ซึ่งขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้บุกรุก ขณะที่การยกเลิกสัญญาเช่านั้น มีทั้งสิ้น 213 สัญญา แบ่งเป็น ช่วงดอนเมือง-พญาไท 100 สัญญา จะดำเนินการยกเลิกสัญญาเช่าให้เสร็จภายในธันวาคม 2563 และช่วงลาดกระบัง-อู่ตะเภา 113 สัญญา จะดำเนินการให้เสร็จภายในตุลาคม 2563
ส่วนการขอเข้าพื้นที่ของหน่วยงานในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่จำเป็น มี 8 หน่วยงานที่ขอรื้อย้ายกรณีเร่งด่วนในพื้นที่ของกรมทางหลวง (ทล.) เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กิจการไฟฟ้าของกองทัพเรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เป็นต้น โดย ทล.อนุญาตให้ ปตท.เข้าพื้นที่ ช่วงดอนเมือง-พญาไท แล้ว ส่วนอีก 7 หน่วยงาน อยู่ระหว่างพิจารณาอนุญาต โดยสั่งการให้ ทล. แนะนำหน่วยงานที่มาขอเข้าพื้นที่จัดเตรียมเอกสารให้พร้อมและเรียบร้อย เพื่อดำเนินการเสร็จครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม หากติดปัญหาอุปสรรคใด ๆ ให้นำมารายงานในที่ประชุมครั้งต่อไป
ปลัดคมนาคม กล่าวว่า การขอขยายเขตทาง ที่เอกชนต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม 6 จุด ได้แก่ สถานีลาดกระบัง, บริเวณจุดตัดทางรถไฟ ช่วงทางออกสนามบินสุวรรณภูมิ, ประตูน้ำของกรมชลประทาน, ช่วงข้ามแม่น้ำบางปะกง โดยต้องทำสะพานรถไฟความเร็วสูงใหม่, ช่วงอุโมงค์เขาชีจรรย์ และบริเวณทางเข้าสนามบินอู่ตะเภา มีผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเวนคืนทั้งสิ้น 48 ราย จำนวน 63 แปลง ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนต้องทำให้เสร็จภายในกรกฎาคมนี้ จากนั้นสรุปข้อมูลรับฟังความคิดเห็นสิงหาคม 2563 ทั้งนี้ ต้องพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ควบคู่ โดยใช้หลักการเวนคืนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น หากเวนคืนบางส่วน แต่ใช้พื้นที่ไม่ครบแปลงเหลือเศษที่ดิน 20-25 ตารางวาให้เวนคืนทั้งหมด เพื่อใช้สำหรับเขตปลอดทาง ถ้าออกแบบหลบได้ให้กระทำ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อน
นอกจากนี้ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานการโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์นั้น ประกอบด้วย 5 เรื่อง คือ 1.การตรวจสอบสถานะทางด้านเทคนิคจะเสร็จภายในปลายกรกฎาคมนี้ 2.การเตรียมความพร้อมการเดินรถ
3.การปรับปรุงบริการให้ผู้โดยสาร เช่น การตกแต่งภายในสถานี ทั้งไฟแสงสว่าง ติดระบบเครื่องปรับอากาศ (แอร์) และจัดที่จอดรถ 4.การคืนสภาพทรัพย์สิน โดยการปรับปรุงอาคารสถานี ที่ต้องมั่นคงแข็งแรง และ 5.การปรับระบบเพื่อรองรับการเดินรถ โดยจะใช้ระยะเวลารวมประมาณ 16 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่มิถุนายน 2563 และต้องเสร็จสิ้นภายในกันยายน 2564 พร้อมทั้งชำระเงินให้ รฟท. จากนั้นจะส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และเปิดให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่องช่วงตุลาคม 2564 ทั้งนี้ เชื่อว่าบริษัทดำเนินการอย่างมืออาชีพ เนื่องจากมีการทำแผนไว้อย่างชัดเจน
ปลัดคมนาคม ยังชี้แจงกรณีที่มีความล่าช้าในการทำงาน เนื่องจากมีผู้เชียวชาญจากต่างประเทศที่ว่าจ้างมาสำรวจตรวจสอบและวางแผนระบบการพัฒนาแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แต่ติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงแนะนำให้ไปตรวจสอบข้อกำหนดในการเข้าประเทศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ว่า บุคคลกลุ่มนี้อยู่ในประเภทที่ ศบค.อนุญาตให้เข้าประเทศหรือไม่ แต่ต้องดำเนินการตามกระบวนการมาตรการป้องกันโควิด-19 ของไทย