นายกรัฐมนตรี เผย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงชมเชย และพระราชทานกำลังใจรัฐบาลและทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมครม. ว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานทุนทรัพย์เพื่อจัดซื้อรถพยาบาลเคลื่อนที่ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนามาแล้ว 1 คัน และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเพิ่มเติม เพื่อให้ครบเขตให้บริการ
ขณะเดียวกัน ตนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายข้อราชการตามห้วงเวลาของรัฐบาลให้ทรงทราบ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งชมเชย ขอบคุณ ทั้งรัฐบาลเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งวันนี้ได้รับคำชื่นชมจากหน่วยงานในต่างประเทศจำนวนมาก นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย
นอกจากนี้ ยังรับสั่งเรื่องความรัก ความสามัคคี ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดูแลเรื่องความเป็นธรรม ความโปร่งใส เพื่อทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพ และบริหารจัดการให้ได้ทุกอย่างในทุกมิติ ทั้งนี้ ปัญหาใดก็ตามที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ขอให้รัฐบาลมีแผนงานโครงการ ในการลงไปดูแลให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ และเป็นไปด้วยความเหมาะสม ซึ่งสิ่งที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ คือเรื่องของน้ำและป่า ที่ประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนอยู่ ส่วนการบริหารจัดการอื่นๆ รัฐบาลจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อสนองตอบพระราโชบายต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสืบสาน รักษา ต่อยอด
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งคือ เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ถือเป็นอัตลักษณ์ของชาติ ทุกคนควรจะภูมิใจในเรื่องเหล่านี้ และควรรักษาไว้ให้ได้ พร้อมทั้งต้องเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะในบริบทต่างๆหลายอย่าง ซึ่งรัฐบาลรับสนองตรงนี้มา เราต้องช่วยกันศึกษาทำความเข้าใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ได้ ว่ามีการพัฒนามาตามลำดับ
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ที่ประชุมครม.ได้อนุมัติหลักการโครงการ ในระยะที่ 1 วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากผลกระทบของโควิด-19 ตามกรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ภายใต้พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เเงิน เพื่อแก้ปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563
โดยจะเน้นหนักด้านการเกษตรก่อน เพื่อสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน ส่วนนักธุรกิจ เอสเอ็มอี เป็นอีกเรื่องที่จะทยอยมีมาตรการออกมาตามลำดับ ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งรัฐบาลต้องหามาตรการที่เหมาะสมด้วยความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย ตลอดจนกลไกของรัฐ หรือกลไกต่างๆกองทุนต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม ในการที่จะให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ในช่วงนี้ ส่วนระยะที่ 2 อีก 3 แสนล้านบาท จะทยอยดำเนินการในระยะต่อไป