xs
xsm
sm
md
lg

กรอ.เผยครึ่งแรกปี 63 ภาคอุตสาหกรรมจ้างงานเพิ่ม 1.2 แสนคน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมโรงงานอุตสาหกรรม แจ้งข่าวดี 6 เดือนแรกปีนี้ มีโรงงานขอใบอนุญาต ร.ง.4 และขยายกิจการ 1,702 ราย โดยมี 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากสุด ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า, อาหาร, เครื่องจักรกล โลหะ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เตรียมเสนอ 5 โครงการฟื้นฟูผู้ประกอบการ ฝ่าวิกฤติโควิด-19

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รายงานสถิติการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า ยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) และขยายกิจการใน 21 กลุ่มอุตสาหกรรมช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (ม.ค.–มิ.ย.) มี 1,702 ราย เพิ่มขึ้น 10.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ,มีการจ้างงานใหม่ 123,794 คน เพิ่มขึ้น 79.23 % และเงินลงทุน 174,850.47 ล้านบาท ลดลง 14.09%

แม้ว่าทั่วโลก จะได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มีปริมาณการจ้างงานใหม่ปรับเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่า ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ได้วางแผนการลงทุนล่วงหน้าอยู่แล้ว ทำให้ตัวเลขการลงทุน การจ้างงาน มีตัวเลขสูงขึ้น ซึ่งใน 2 ไตรมาสแรก ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น น่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19มากนัก โดยต้องติดตามในไตรมาส 3 และ 4 ที่อาจจะมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาเป็นตัวชี้วัดอย่างมีนัยสำคัญ

อธิบดี กรอ.กล่าวว่า นักลงทุนยังรอดูสถานการณ์ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ว่า จะคลี่คลายเมื่อไหร่ แต่ในส่วนของประเทศไทย ก็ยังมีเรื่องดี ๆ โดยพบว่า ตัวเลขความต้องการจ้างงานใหม่ของโรงงานที่ขออนุญาตใบ ร.ง.4 และขยายกิจการเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

และหากเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีอื่น ๆ พบว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 มีความต้องการแรงงานใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 ปี หรือ ย้อนหลังไปถึงปี 2561 ซึ่งอย่างน้อย ก็จะเข้ามารองรับการจ้างงานในไทยให้เพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถช่วยแก้ปัญหาการว่างงานของแรงงาน จากผลกระทบการระบาดไวรัสโควิด-19 และรองรับนักศึกษาที่จบใหม่ได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์มีความต้องต้องการแรงงานเพิ่ม 39,873 คน สาเหตุที่กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีความต้องการแรงงานสูงเนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการใช้แรงงานในการประกอบและตรวจสอบอุปกรณ์จำนวนมาก

2. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร มีความต้องการแรงงาน 20,112 คน, 3. กลุ่มผลิตเครื่องจักรเครื่องกล 11,910 คน, 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 6,002 และ5. กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 5,814 คน

หากพิจารณาตัวเลขการขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2562 จำนวน 1,702 ราย แบ่งเป็นยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ 1,267 ราย ลดลง 3.36 % จ้างงาน 52,692 ราย เพิ่มขึ้น 25.58 % และเงินลงทุน 71,121.96 ล้านบาท ลดลง 30.16 % และการขยายกิจการ จำนวน 435 ราย เพิ่มขึ้น 13.58% จ้างงาน 71,102 ราย เพิ่มขึ้น 53.65% เงินลงทุน 103,728.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.07 %

อุตสาหกรรมอาหาร ขอใบอนุญาตขอจัดตั้งโรงงานและขยายกิจการสูงสุดจำนวน 97 ราย เพิ่มขึ้น 44.78 % มีการจ้างงาน 15,631 คน เพิ่มขึ้น 44.21 % และเงินลงทุน 14,390.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.19 % สาเหตุที่มีการขออนุญาตลงทุนโรงงานประเภทนี้มากสุดเพราะกลุ่มอุตสาหกรรมนี้มีการเจริญเติบโตสูง

รองลงมา เป็นผลิตภัณฑ์พลาสติก 36 รายลดลง 41.94% จ้างงาน 2,363 คน ลดลง 36.16% และเงินลงทุน 2,763.92 ล้านบาท ลดลง 64.93%

กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพืช 32 ราย เพิ่มขึ้น 6.67% จ้างงาน 1,706 คน เพิ่มขึ้น 79.58 % เงินลงทุน 5,266.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.71%, ผลิตภัณฑ์อโลหะ 31 ราย เพิ่มขึ้น 82.35% จ้างงาน 2,474 คน เพิ่มขึ้น 1,346.78% ลงทุน 2,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 645.68% และกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 26 ราย ลดลง 15.38% จ้างงาน 3,462 คนเพิ่มขึ้น 69.54 %เงินลงทุน 3,076.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.63%

อธิบดี กรอ.มองทิศทางโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดี ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารซึ่งหากดูจากตัวเลข จะเห็นว่า ยังมีการขออนุญาตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนความคืบหน้าแผนฟื้นฟู ส่งเสริม หรือ สนับสนุนสถานประกอบการอุตสาหกรรม หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุด กรอ. ได้จัดทำข้อเสนอโครงการฯ ตามมาตรการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและสังคม (พ.ร.ก. กู้เงินฯ ) ให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแล้ว 5 โครงการวงเงินประมาณ 148 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน โดยการบำรุงรักษาเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มที่ 1 โรงงานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เคมี ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เหล็ก และต่อเรือซ่อมเรือ

นอกจากนี้ยังมีโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน โดยการบำรุงรักษาเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มที่ 2 โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยา ไม้หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ สิ่งทอ เซรามิก แก้วและกระจก หนังและผลิตภัณฑ์หนัง

โครงการฟื้นฟูและยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัย มาตรฐาน ผลิตภาพ พลังงานและสิ่งแวดล้อม, โครงการพัฒนายกระดับศักยภาพการผลิตของเอสเอ็มอี กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟติงส์ หรือ IoTs ให้ได้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และโครงการฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปด้วยเทคนิควิศวกรรมอาหาร เชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนก็จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มาก




กำลังโหลดความคิดเห็น