โฆษกปชป. ย้ำจุดยืนขอแก้ไขเพิ่มเติมระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 60 โดยคำนึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนที่ขาดหายไปจากรัฐธรรมนูญปี 50 ด้วย
ที่รัฐสภา นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงแนวทางการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า พรรคยึดเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหลักของพรรค ตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการแก้ไขไม่ได้มองแต่ระบบการเมืองและระบบการเลือกตั้งเท่านั้น แต่พรรคยังคำนึงถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนที่ขาดหายไปจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ด้วย รวมถึงระบบการเลือกตั้งที่เป็นปัญหา กระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
โดยการเลือกตั้งที่ผ่านมาสร้างปัญหาหลายส่วน เพราะเป็นไปได้อย่างไรที่เรามีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะมีกระบวนการนับคะแนนด้วยวิธีการใด โดยมีการอ้างว่าใช้วิธีจัดสรรปันส่วนผสม และยังระบุหลักการว่าไม่ให้มีคะแนนเสียงตกน้ำ แต่ปรากฎว่าแต่ละพรรคก็ยังมีคะแนนตกน้ำ และสัดส่วน ส.ส. พึงมีก็บิดเบี้ยวไปหมด พรรคเล็กหลายพรรคได้รับการจัดสรรได้เป็น ส.ส.
นอกจากนี้ หลายพรรคยังเห็นตรงกันว่า ระบบเลือกตั้งควรให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อที่ประชาชนหนึ่งคนจะได้มีสิทธิในการเลือกตั้งทั้งพรรค และส.ส.เขต ซึ่งจะตรงตามเจตนารมณ์มากกว่า โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พ.ศ. 2560 ต้องทบทวนเรื่องเหล่านี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
ส่วนที่บอกว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นฉบับปราบโกง แต่หากดูมาตรา 236 เรื่องการถ่วงดุลระหว่างองค์กรอิสระกับฝ่ายการเมือง แต่กลับมีการระบุว่า หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กระทำผิดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. หรือ สมาชิกของทั้งสองสภา เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 กล่าวหา ป.ป.ช. แต่ให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ใช้อำนาจวินิจฉัยว่าควรส่งศาลฏีกาหรือไม่ ซึ่งการกำหนดแบบในอนาคต เราไม่สามารถคาดหวังกับตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาได้ จึงเห็นว่าควรต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายมากที่สุด เพื่อให้การตรวจสอบถ่วงดุลเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยากที่สุด ก็อยากทำให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่ายก่อน อำนาจของ ส.ว.ในการที่จะมาระบุว่า ให้ความเห็นชอบในวาระ 1 - 2 ในจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 อันนี้เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเราปลดล็อกมาตรานี้ได้ก็จะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ง่าย ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชน ถ้าหากทุกคนไม่เห็นด้วยกับ ส.ว.ที่มาด้วยกระบวนการแบบนี้ จะเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีไหนต้องมีการหารือกันก่อน ผมไม่ได้บอกว่าส.ว.ไม่ดี แต่เราพูดถึงกระบวนการที่มาของส.ว.ว่าจะมีวิธีการไหนที่จะมาจากการเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง