xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด”สั่งระดมมาตรการช่วยSMEเข้าถึงแหล่งทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ห่วงเอสเอ็มอี ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน สั่ง สสว.ชง ครม.ขอตั้งกองทุน 5 หมื่นล้านบาท เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ และขอให้สถาบันการเงิน ปลดล็อคสินเชื่อ เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประชุมมอบนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ช่วยเหลือผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน โดยให้ สสว.ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อขออนุมัติงบประมาณ 50,000 ล้านบาทจากงบเยียวยา เพื่อตั้งกองทุนของ สสว.นำมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ คาดว่า เงินก้อนแรก จะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ประมาณ 700,000 ราย

นอกจากนี้ นายสมคิด ยังขอความร่วมมือสถาบันการเงิน ให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีมากขึ้น จากปัจจุบันจะเน้นไปที่ธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอยู่รอดได้ ในภาวะที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆทั่วโลก กำลังเจอพายุลูกใหญ่ หากตั้งรับไม่ดี จะย่ำแย่ลงมาก พร้อมยกตัวอย่าง กรณีสิงคโปร์ ที่ตัดสินใจยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ จะได้มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ มาแก้วิกฤติ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะเร่งหามาตรการมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติม จากขณะนี้ที่มีเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน ของธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอยู่แล้ว โดยอาจให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.เข้ามาช่วยเพิ่มมากขึ้น ทำให้กลไกความช่วยเหลือที่มีอยู่ คล่องตัวขึ้น

ส่วนผู้ประกอบการ ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน เพราะเป็นรายเล็กมาก ไม่เคยกู้ ไม่มีทรัพย์สิน ทางกองทุน สสว.จะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช้เกณฑ์ของธนาคาร แต่จะต้องมีทั้งสินเชื่อผ่อนปรน และทุนสนับสนุน เพื่อไม่ให้ไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ และเมื่อช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ต้องมองในระยะต่อไปด้วย หลังจากโควิดผ่านพ้นไป การทำมาหากินจะเปลี่ยนรูปแบบ ก็ต้องมีเงินทุนอีกส่วนหนึ่ง มาสนับสนุน

ด้านนายวีระพงษ์ มาลา ผู้อำนวยการ สสว. คาดว่า กองทุนใหม่ของ สสว. จะเริ่มช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ภายใน 1 เดือนหลังจาก ครม.อนุมัติงบประมาณ โดย สสว.จะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข ขณะที่ธนาคารรัฐ จะทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้ เบื้องต้นกำหนดวงเงินอุดหนุน แบ่งเป็น 2 ก้อน ก้อนแรก "เงินเติมพลังชีวิต" รายละไม่เกิน 100,000 บาท และอีกก้อน คือ "การเพิ่มทุน" เพื่อเสริมสภาพคล่องไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยผ่อนปรน 1 % ต่อปี ผ่อนชำระ 10 ปี อัตราการผ่อนชำระหนี้เดือนละไม่ถึง 10,000 บาท โดยพิจารณาปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่มีโอกาสและมีศักยภาพ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องเข้าร่วมอบรมหรือพัฒนาทักษะปีละครั้ง ทั้งจาก สสว.หรือหน่วยงานอื่น ๆ ก็ได้

นอกจากนี้ สสว.จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพราะ เพราะหากดูมูลค่าตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐปี 2562 มีมูลค่าถึง 1.3 ล้านล้านบาท หากช่วยเอสเอ็มอีมีแต้มต่อเข้าถึงตลาดนี้ได้ 30% จะสร้างรายได้ผู้ประกอบการกว่า 400,000 ล้านบาท



กำลังโหลดความคิดเห็น