xs
xsm
sm
md
lg

"สมคิด" จี้ PPP เร่งรัดโครงการลงทุนกระตุ้นศก.หลังโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองนายกฯ สมคิด เร่งรัดโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อให้เม็ดเงินลงทุน เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ทดแทนการพึ่งพารายได้จากการส่งออก ที่ยังมีอุปสรรคจากผลกระทบโควิด ขู่ หากโครงการใดล่าช้าข้ามปี จะหาโครงการอื่นมาทดแทน ด้านรัฐมนตรีคลัง เร่งประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการ ให้เดินหน้าลงทุน หลังโควิดคลี่คลาย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ พีพีพี (PPP) ครั้งที่ 2/2563 ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ได้รายงานความคืบหน้าโครงการ PPP พบว่า เกือบทุกโครงการล่าช้าออกไป 6-10 เดือน นายสมคิด จึงกำชับ ผู้อำนวยการ สคร.ให้แจ้งรัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของโครงการ พยายามเดินหน้าโครงการต่อไปให้ได้ แม้จะช้าไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ควรช้าเป็นปี เพราะขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ดี จึงต้องหันมามาพึ่งพาการลงทุนในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นายสมคิด บอกว่า รัฐบาลต้องการเห็นการลงทุน PPP ไม่ใช่แค่โครงการสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ต้องการให้ลงทุน PPP ในโครงการด้านสังคม ด้านการแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา การท่องเที่ยว การเกษตรด้วย ซึ่งสาเหตุที่โครงการเหล่านี้มีน้อย เพราะไม่มีแรงจูงใจ จึงขอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ พิจารณามาตรการจูงใจเพิ่มเติม และให้ สคร. ประชาสัมพันธ์ว่า รัฐบาล มีการร่วมลงทุนในลักษณะนี้ด้วย เพื่อให้เอกชนเสนอโครงการเข้ามา

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงสาเหตุที่การลงทุน PPP ล่าช้า เป็นเพราะการระบาดของโควิด ทำให้ไม่สามารถส่งวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศเข้ามาได้ เพราะมีการปิดประเทศ ไม่ได้เกิดจากปัญหาเกียร์ว่างของหน่วยงานเจ้าของโครงการ โดยกระทรวงการคลัง จะเร่งประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการ ให้เดินหน้าลงทุนต่อไปให้ได้ หลังโควิดคลี่คลาย

ด้านนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. บอกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ PPPวันนี้ มีมติออกกฎหมายลูก PPP เรื่อง โครงการลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแม่ PPP ทั้งหมด โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมายลูกที่จะออกมา ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกกิจการโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้เป็นอำนาจของหน่วยงานเจ้าของโครงการ หรือ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงดำเนินการไปได้เลย

ส่วนที่สอง โครงการที่มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ให้เสนอ สคร. เพื่อเสนอให้คณะกรรมการ PPP พิจารณาว่า ต้องดำเนินการตามกฎหมายแม่หรือไม่ หากไม่จำเป็น ก็ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ หรือ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ดำเนินการไปได้เลย

สำหรับโครงการร่วมลงทุน ปี 2563-2570 ที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน 18 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 472,050 ล้านบาท ในจำนวนนี้มี 10 โครงการที่ล่าช้า โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด อยู่ที่ประมาณ 200,000ล้านบาท เพราะต้องรอวัสดุอุปกรณ์จากประเทศจีน





กำลังโหลดความคิดเห็น