ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนพฤษภาคม ปรับลดลง ต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี กังวลภาวะเศรษฐกิจติดลบ จากผลกระทบโควิด เชื่อหากภาครัฐ เร่งอัดเม็ดเงินกระตุ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จะช่วยพยุงเศรฐกิจไทย ติดลบไม่มาก
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนพฤษภาคม 2563 จากกลุ่มตัวอย่างสมาชิกหอการค้าไทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 364 ตัวอย่าง พบว่า ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 31.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 39 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 โดยตัวชี้วัดทุกด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว การจ้างงาน ปรับลดลงทุกภูมิภาค แม้จะคลายล็อกให้กิจการห้างร้านต่าง ๆ เริ่มกลับมาทำธุรกิจได้บ้างแล้ว แต่มีหลายธุรกิจที่ยังขาดรายได้ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังไม่มีความเชื่อมั่น และต้องการให้ภาครัฐ เร่งปลดล็อกการเดินทางท่องเที่ยวและช่วยเหลือภาคธุรกิจ กลับมาดำเนินการเต็มรูปแบบได้โดยเร็ว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการทั่วประเทศ กังวลภาวะเศรษฐกิจไทย หลังจากหลายหน่วยงานทยอยปรับลดจีดีพีปีนี้ ติดลบมากขึ้น อีกทั้งการแพร่ระบาดของโควิค-19 ทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งเศรษฐกิจไทยเวลานี้ อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หากไม่สามารถฟื้นตัวได้ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมนี้ เศรษฐกิจจะทรุดตัวซึมลึกมากขึ้น อาจติดลบถึง 8.8%
จากประมาณการณ์เดิมของหอการค้าไทย ที่ลบ 5 %
แต่หากภาครัฐ ผลักดันมาตรการกระตุ้นให้เป็นรูปธรรม ,เร่งรัดการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ,ปลดล็อกการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และคลายล็อกการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเอเชีย ที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว ก็น่าจะช่วยพยุงเศรฐกิจไทยติดลบน้อยลง