xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากร ขานรับมติ ครม.เก็บ VATอี-เซอร์วิส

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสรรพากร ขานรับ มติ ครม. จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ ที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย เพื่อสกัดเงินไหลออก สร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการในประเทศ และยกระดับระบบภาษีไทย

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร บอกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 9 มิ.ย.63 มีมติเห็นชอบส่งร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) เพราะปัจจุบัน มีการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เช่น เว็บไซต์ ,แอพพลิเคชั่น ให้บริการรูปแบบต่าง ๆ เช่น ดาวน์โหลดหนัง ,เพลง, เกม, การจองโรงแรม ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ มีรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่กรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ ครม.จึงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ฉบับบนี้

อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้ผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ เช่น การให้บริการดาวน์โหลดภาพยนตร์ โหลดเพลง สื่อบันเทิงต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์แก่ลูกค้าในประเทศไทย มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร

ขั้นตอนหลังจากนี้ จะส่งร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

อธิบดีกรมสรรพากร บอกว่า เมื่อร่างพ.ร.บ.นี้ มีผลบังคับใช้ จะเกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศกับผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย และยังเป็นการปรับปรุงกฎหมายภาษีไทยให้ทันสมัย สอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีของนานาประเทศ โดยคาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท

สำหรับการจัดทำร่างกฎหมายนี้ กรมสรรพากร ได้นำผลศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี (OECD) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีกว่า 60 ประเทศ ก็ใช้กฎหมายลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งได้ผลมาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น