กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ พิจารณาเยียวยากลุ่มตกหล่น ล็อตสุดท้าย 9 ล้านคน ส่วนมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว ยังไม่ได้ข้อสรุป
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการเยียวยาผลกระทบไวรัสโควิด-19 บอกว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเยียวยากลุ่มประชาชนที่ยังตกหล่น จากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ พบว่า ยังมีกลุ่มตกหล่น ซึ่งเป็นล็อตสุดท้าย ประมาณ 9 ล้านคน
แบ่งเป็นกลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.2 ล้านคน, กลุ่มที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พันบาทไม่สำเร็จ 3 แสนคน ,กลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ และเด็ก ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กลั่นกรองผู้เข้าเกณฑ์ได้รับเยียวยาล่าสุด เหลือ 6.9 ล้านคน จากกลุ่มผู้เปราะบางทั้งสิ้น 13 ล้านคน เพราะบางคนยังประกอบอาชีพและมีรายได้ประจำ โดยสัปดาห์หน้า จะเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาเยียวยากลุ่มนี้ ทั้งวงเงิน และระยะเวลาเยียวยา ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาในสัปดาห์ถัดไป
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กลุ่มที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พันบาทไม่สำเร็จ มีทั้งหมด 1.7 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ ได้คัดกรองความซ้ำซ้อนในการรับมาตรการรัฐต่างๆแล้ว พบว่า เหลือแค่ 3 แสนคน ที่ถือเป็นกลุ่มตกหล่นจริงๆ
ส่วนกลุ่มที่มาร้องเรียนหน้ากระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่า เป็นกลุ่มที่ตกหล่น6.4 พันคน
ส่วนมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยกระทรวงการคลัง ขอให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.กลับไปทำรายละเอียดแต่ละมาตรการ โดยเน้นย้ำให้เป็นการกระตุ้นไทยเที่ยวไทย และการท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงโควิด-19 รวมทั้งต้องเป็นมาตรการที่ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เบื้องต้นระยะเวลามาตรการ คือ 4 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม-ตุลาคม 2563 โดยสัปดาห์หน้า ททท.จะประชุมร่วมกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว จะเร่งนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้และเสนอที่ประชุม ครม.โดยเร็ว