อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม ติดลบ3.44% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี 11 เดือน ทำให้ประเทศไทย เข้าสู่ภาวะเงินฝืด หลังจากเงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน จากผลกระทบโควิด ฉุดการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และราคาน้ำมัน คาดเงินเฟ้อทั้งปี ติดลบ 0.2% ถึงลบ 1 %
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือ สนค. รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือ อัตราเงินเฟ้อไทย เดือนพฤภาคม 2563 ติดลบ 3.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี 11 เดือน ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน ทำให้ไทย กำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนพฤภาคม 2563 เพิ่มขึ้น 0.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) ติดลบ 1.04% และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.40%
นางสาว พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. บอกว่า เงินฝืดที่เกิดขึ้น เป็นเงินฝืดทางเทคนิค เพราะยังมีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น มากกว่าราคาลดลง ซึ่งไม่ต้องกังวล และไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจแย่ โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง เป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ,ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ลดค่าไฟ ค่าน้ำ ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพบางรายการ
ผู้อำนวยการ สนค. บอกว่า เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้แล้ว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าเงินเฟ้อทั้งปีนี้ ติดลบ 0.2 % ถึง ลบ 1.0 % โดยมีค่ากลางอยู่ที่ ลบ 0.6% โดยมองว่า การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เป็นสัญญาณดีที่จะทำให้สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการปรับตัวดีขึ้น
ผู้อำนวยการ สนค. มองแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีโอกาสติดลบอีกหลายเดือน โดยแรงกดดันหลัก มาจากราคาน้ำมันปีนี้ที่ฐานค่อนข้างต่ำ จากปีก่อนราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล คาดว่า ทั้งปีนี้ ราคาน้ำมันคงอยู่ระดับ40-45 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล และยืนยันว่า สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทย ยังไม่น่ากังวล แม้จะติดลบต่อต่อกัน 3 เดือน และยังไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หากการส่งออกยังขับเคลื่อนได้ และราคาน้ำมันเริ่มขยับขึ้นบ้าง
สนค. เสนอแนะภาครัฐ ผ่อนคลายล็อคดาวน์ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยฟื้นฟูการใช้จ่าย และทำให้เศรษฐกิจในประเทศ เริ่มกลับมาหมุนเวียนได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว หากมีมาตรการกระตุ้นคนไทยเที่ยวไทย จะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้