ลับ ลวง พราง บอร์ดการบินไทย ทำไมต้องตั้งคณะทำงานคู่ขนาน ?!?
นี่เป็นการแสดงทัศนะและการตั้งข้อสังเกตของนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังซึ่งมีต่อกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย ขึ้นมาทำงานคู่ขนานกับบอร์ดที่จัดทำแผนฟื้นฟู โดยมีนายวิษญุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาครัฐในการกำกับนโยบาย ติดตามการทำงานของบริษัท การบินไทย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของภาครัฐ โดยไม่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาของศาล และเป็นไปตามที่บริษัท การบินไทย ร้องขอ
โดยทำหน้าที่แทนที่กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง ที่งัดข้อกันกำกับ ผูกขาด และชิงไหว ชิงพริบกันมาโดยตลอดแทบทุกช็อต ซึ่งแม้จะมีข้อดีในฐานะที่เป็นคณะกรรมการปรองดองที่มีองค์คณะมาจาก 2 ขั้วพรรคการเมืองอย่างพปชร.และภูมิใจไทย รวมทั้งสายตรงจากคนของนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้ หักดิบ –ตีกลับ ทั้งชื่อ-ทั้งแผนที่เรียกว่า การฟื้นฟูกิจการการบินไทย ของฝ่ายการเมือง ที่ชงมาจากเจ้ากระทรวงคมนาคม สังกัดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งทำให้บรรดาพรรคการเมืองเจ้ากระทรวง ทั้งพรรคพปชร. ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ไม่สามารถเข้ามาล้วงลูก และสร้างความปั่นป่วนจนแผนฟื้นฟูเดินหน้าไปไม่ได้อีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไมได้ว่า การตั้งบอร์ดดังกล่าว ก็ทำให้เกิดความเคลือบแคลงและคำถามจากสังคมว่า สุดท้ายแล้ว การบินไทยก็ยังคงหนีไม่พ้นวังวนของฝ่ายการเมืองที่ไม่ยังไม่ยอมปล่อยและยังอยากขอมีเอี่ยวในฐานะของสายการบินแห่งชาติใช่หรือไม่...แม้ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะออกมายืนยันว่า บอร์ดชุดนี้เป็นเพียง บอร์ดกระจอก และไม่ใช่ซูเปอร์บอร์ด เป็นเพียงบอร์ดที่เชื่อมโยงในฐานะเป็นคนกลางระหว่างรัฐบาลกับบริษัท ซึ่งเดิมไม่ต้องมีตัวกลาง เพราะตอนเป็นรัฐวิสาหกิจก็สามารถติดต่อได้เอง แต่เมื่อเป็นเอกชนแล้วก็จำเป็นต้องมีคนกลาง เพราะหากไม่มี สหกรณ์ 80 กว่าแห่งถือหุ้นกู้ที่อยู่ในนั้นก็จะมีคนเดือดร้อน ข้อสำคัญคือการบินไทยยังสามารถที่จะบริหารองค์กรอยู่ได้ โดยยังต้องใช้สนามบินและติดต่อกองทัพอากาศ ซึ่งหากไม่ตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็จะไม่มีช่องทางตรงนี้และอาจทำให้การ ฟื้นฟูสะดุดได้
อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งบอร์ดกระจอกหรือบอร์ดปรองดองนี้ขึ้นมาประกบคณะทำงานแผนฟื้นฟูของการบินไทย ในภาวะที่การบินไทยอยู่ในภาวะโคม่า รอการผ่าตัดในห้องไอซียูก็ทำให้ // นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกมาแสดงความฉงนใจและมองว่า ในยามวิกฤตเช่นนี้รัฐบาล และคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ควรให้ความสำคัญกับเจ้าหนี้ และการจัดทำแผนเพื่อซื้อใจจากเจ้าหนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเป็นหลักมากกว่าการไปสรรหาการตั้งกรรมการชุดต่างๆขึ้นมาเพื่อวางหมากที่แฝงนัยยะพิเศษ เพรายิ่งทำให้เจ้าหนี้เกิดความระแวงได้
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ลับ ลวง พราง ในแง่มุมต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการรอผ่าตัดใหญ่ของการบินไทย โดยเฉพาะการตั้งคณะทำงาน ที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นทีมลุงตู่ ก็ยังส่งผลให้สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เกิดความไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการฟื้นฟูการบินไทยของรัฐบาล และได้ตั้งคณะทำงานคู่ขนานเพื่อติดตามกระบวนการฟื้นฟูการบินไทยด้วย ซึ่งท้ายที่สุด การบินไทยจะไปในทิศทางใดก็ขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟูกิจการหลังศาลรับคำร้องแล้ว