xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เผยโควิด ฉุดท่องเที่ยวเม.ย.-100%,ว่างงานเพิ่มก้าวกระโดด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานภาวะเศรษฐกิจการเงินเมษายน 2563 พบผลกระทบจากโควิด ทำภาคการท่องเที่ยว ติดลบ 100% ,จำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ ยังขยายตัวได้ หวังมาตรการเยียวยาและการคลายล็อกดาวน์ ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยประจำเดือนเมษายน 2563 เป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจหดตัวสูงขึ้น โดยเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหดตัวเกือบทั้งหมด ได้แก่ การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวสูงขึ้น ติดลบ 15.9% สินค้าที่ติดลบมากๆ เป็นรถยนต์และสินค้าที่ผูกกับราคาน้ำมันดิบ

เครื่องชี้วัดการบริโภคภาคเอกชน หดตัวลง 15.1% ถือเป็นการหดตัวสูงสุด ตั้งแต่ทำดัชนีชี้วัดมา ส่วนการลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์และความเชื่อมั่นที่อ่อนแอลง ,การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าสินค้า หดตัวสูงขึ้นตามการส่งออกสินค้า การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน

ภาคการท่องเที่ยว หดตัว 100% เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย หลังจากรัฐใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และผลของมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนต้องหยุดลงชั่วคราว โดยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก โดยการหดตัวของเครื่องชี้วัดมีหลายตัวที่หดตัวลงแบบเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่มัการจัดทำมา ซึ่งหวังว่าจะไม่มีการสร้างประวัติการณ์ใหม่ขึ้น

ยกเว้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งเป็นองค์ประกอบเดียว ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่ภายในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นเดือนที่ภาครัฐเริ่มทยอยจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิ-19 ซึ่งช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากมองไปข้างหน้าไม่ว่าจะใช้นิยามใดก็ตาม ทิศทางยังไม่ค่อยดีมากนัก เนื่องจากเครื่องชี้นำของการส่งออก ทั้งการค้าโลกและสำรวจคำสั่งซื้อจากผู้ประกอบการ ยังไม่ดี สะท้อนให้เห็นว่าในอีก 1-2 เดือนจากนี้ การส่งออกสินค้า น่าจะหดตัวที่มากขึ้น ,การบริโภคภาคเอกชน หดตัวสูงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลง และมาตรการปิดเมือง

สำหรับเสถียรภาพของเศรษฐกิจมีความเปราะบางมากขึ้น โดยจุดที่กังวลมากที่สุด เป็นเรื่องตลาดแรงงาน เพราะหากประเมินจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม มีผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในเดือนเมษายน มีผู้รับสิทธิ์ในสัดส่วนเพิ่มมาเป็น 1.8% จากเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา มีผู้รับสิทธิ์ในสัดส่วน 1.4%

ในจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานทั้งหมด มีสัดส่วน 16% ที่ถูกเลิกจ้าง ทำให้ ธปท.มีความเป็นห่วงกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายกิจการต้องปิดชั่วคราว จากข้อมูลสำนักงานประกันสังคมตามมาตรา 75 คือสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว โดยให้ลูกจ้างหยุดงานแต่ได้รับเงิน 75% ของรายได้มีการเพิ่มขึ้นสูงถึง 5 เท่าในเดือนเมษายน อยู่ที่ 4.6 แสนราย จากเดือนมีนาคม มีจำนวนสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว 445 แห่ง กระทบต่อลูกจ้าง 92,264 ราย

ส่วนแรงงานในภาคเกษตร พบว่า มีรายได้หดตัวสูงขึ้น หลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้รายได้เกษตรเดือนเมษายน ติดลบกว่า 10.1% จากผลผลิตที่ออกมาน้อยลง ส่งผลให้ตลาดแรงงานทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรมีรายได้ลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศสูงมาก

นายดอน มองแนวโน้มในเดือนพฤษภาคมนี้ แม้เศรษฐกิจไทย จะหดตัวในระดับที่สูงกว่าเดิม แต่ถือว่ามีการปรับดูดีขึ้นบ้าง หลังจากรัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงหลายๆ ประเทศทั่วโลกด้วย แม้จะยังไม่มีการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ตาม

เครื่องยนต์ที่คาดหวังพึ่งพาได้เหลือเพียงตัวเดียว คือ การใช้จ่ายภาครัฐเท่านั้น โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น