xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-จีน คาดเซ็นสัญญา 2.3 ต.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทย-จีน บรรลุข้อตกลงร่วมกันในร่างสัญญา 2.3 งานวางราง ระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ กำหนดเซ็นสัญญาตุลาคมนี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย และนายนิ่ง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย) หรือ JC ครั้งที่ 28 เพื่อติดตามความคืบหน้า โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท ในส่วนของสัญญาจ้างงาน ระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดอบรมบุคลากร (สัญญา2.3) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท

ที่ประชุมทั้ง 2 ฝ่าย บรรลุข้อตกลงร่วมกันในร่างสัญญา 2.3 งานวางราง ระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ เป็นการควบคุมระบบรถไฟและการดำเนินในส่วนของวางสถานี กรอบวงเงิน งบประมาณ 50,633,500 ล้าน บาท (ต่อรองราคา ลดลง 3,000 ล้านบาท) และเห็นชอบที่จะให้ชำระเป็นเงินดอลลาร์ 80 % เป็นจำนวน 1,313,885,237 เหรียญสหรัฐ และชำระเป็นเงินบาท 20 % เป็นจำนวน 10,126,700,000 บาท อัตราแลกเปลี่ยน 30.82955 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (ตามอัตราเฉลี่ยธนาคารแห่งประเทศไทยช่วง ระหว่าง 25 เมษายน 2562 - 30 พฤศจิกายน 2562)

กำหนดไทม์ไลน์ในเดือนมิ.ย. จะรายงานผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี จากนั้นกลางเดือนมิ.ย.การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ส่งร่างสัญญา ต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อส่งต่ออัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา คาดว่าจะสรุปร่างสัญญาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินและเงื่อนไข ภายในเดือนส.ค.และคาดว่าจะสรุปรายละเอียดสามารถลงนามในสัญญาได้ในเดือนต.ค. 2563

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด - 19 ตั้งแต่ต้นปี2563 ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมคณะกรรมการร่วม ไทย-จีน ได้ ซึ่งล่าสุดจากการประสานกับจีน ตกลงจัดการประชุม VDO Conference ในวันนี้ (25พ.ค.) เพื่อตกลงในเงื่อนไขสัญญา 2.3 และยืนยันการเจรจาเงื่อนไขในโครงการรถไฟไทย-จีน ไทยไม่เสียเปรียบและไม่ได้เอาเปรียบจีน เป็นความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบรางซึ่งมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่ำ โดยเส้นทางที่เชื่อมจากหนองคาย-โคราช-กรุงเทพ เป็นรถไฟสายหลักที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านระบบรางของอาเซียน

นอกจากนี้ ฝ่ายรัฐบาลไทย ได้แจ้งให้ทางฝ่ายจีนรับทราบด้วยว่า จะเชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีลงนามที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งฝ่ายรัฐบาลจีนรับทราบ และจะนำเสนอรัฐบาลจีน เพื่อกำหนดตัวบุคคลจากรัฐบาลจีน มาร่วมเป็น ประธานสักขีพยานฝ่ายจีนต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น