xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยออมสิน ชี้ศก.ไทยหลังโควิด ฟื้นแบบ U-Shape

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ประเมินเศรษฐกิจไทยหลังจบโควิด ขยายตัวแบบU-Shapeโดยธุรกิจขนส่งสินค้าและสุขภาพ จะฟื้นตัวเร็ว ส่วนธุรกิจสายการบิน,อสังหาริมทรัพย์ ยังต้องใช้เวลา

ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจหลังจบCOVID-19หากสถานการณ์ทุกอย่างสามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ภายในครึ่งปีหลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะU-Shapeและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ จะทยอยฟื้นตัว แต่จะใช้เวลาในการฟื้นตัวมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับลักษณะจำเพาะหรือโครงสร้างของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ที่มีความแตกต่างกันออกไป รวมถึงความรุนแรงของผลกระทบที่ได้รับที่แตกต่างกัน ส่งผลให้บางกลุ่มธุรกิจอาจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ บางกลุ่มธุรกิจอาจต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัวนาน แล้วแต่กรณี


นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจหลังCOVID-19โดยพิจารณาและศึกษาจากผลกระทบที่ธุรกิจได้รับจากปัจจัยต่างๆ สามารถแบ่งธุรกิจ ได้เป็น3กลุ่ม 1. กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็ว (ภายใต้สมมติฐานเปิดประเทศภายในครึ่งปีหลัง และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึง การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว)ธุรกิจการขนส่งสินค้าและโดยสารทั่วไป (ทางบกและทางน้ำ),ธุรกิจสื่อสาร,ธุรกิจคลังสินค้า,ธุรกิจไปรษณีย์/การรับส่งของ,ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร,ธุรกิจสุขภาพ (การแพทย์และอนามัย),ธุรกิจขายปลีกสมัยใหม่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น,ธุรกิจผลิตอุปกรณ์วิทยาศาสตร์/การแพทย์,ธุรกิจผลิตอะไหล่รถยนต์/รถจักรยานยนต์,ธุรกิจประกันสุขภาพ และธุรกิจการศึกษาออนไลน์

2.กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ปานกลาง (ภายใต้สมมติฐานเปิดประเทศภายในครึ่งปีหลัง และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว)ธุรกิจการขนส่งโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว (ทางบกและทางน้ำ),ธุรกิจโรงแรม,ตัวแทนธุรกิจเดินทาง/นำเที่ยว,ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม,ธุรกิจบันเทิง,ธุรกิจขายส่งขายปลีกที่เป็นรายย่อย,ธุรกิจผลิตเครื่องดื่ม ธุรกิจผลิตกระเบื้อง/เครื่องปั้นดินเผา/ผลิตภัณฑ์แก้ว,ธุรกิจผลิตเครื่องจักร,ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์,ธุรกิจกระดาษ,ธุรกิจเคมีภัณฑ์,ธุรกิจเหล็ก,ธุรกิจผลิตซีเมนต์/คอนกรีต,ธุรกิจประมงฯ,ธุรกิจก่อสร้าง,สถาบันการเงิน,ธุรกิจประกันภัย/ประกันอุบัติเหตุ และธุรกิจการศึกษา

3.กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ช้าธุรกิจขนส่งทางอากาศ (สายการบิน),ธุรกิจผลิตเชื้อเพลิง,ธุรกิจรถยนต์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างไรก็ตาม หากว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสCOVID-19สิ้นสุดลง และคาดว่าธุรกิจจะทยอยฟื้นตัวซึ่งอาจใช้ระยะเวลาฟื้นตัวและกลับมาดำเนินการที่แตกต่างกันไปแต่คาดว่าจากเหตุการณ์นี้จะมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดกิจการไปเนื่องจากอาจเป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีสภาพคล่องไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงพนักงานและธุรกิจในช่วงที่มีปัญหาต่อเนื่องกันหลายเดือน หรืออาจเป็นธุรกิจที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนและความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ค่อนข้างยาก ส่งผลให้ไม่สามารถก้าวผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปได้

นอกจากนี้ จากการที่ประเทศไทย พึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ล้วนส่งผลให้การฟื้นตัวของธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่ไทยมีการส่งออก หรือเป็นประเทศหลักที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย ซึ่งบทเรียนCOVID-19น่าจะเป็นสิ่งที่ส่งผลให้ธุรกิจ ควรตระหนักถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ไม่ควรหวังการพึ่งพารายได้จากภายนอกประเทศโดยเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งมากจนเกินไป ควรมีการสำรองเงินทุนให้เพียงพออย่างน้อย6เดือนเพื่อเป็นสภาพคล่องยามฉุกเฉิน และไม่ควรมีภาระหนี้สินที่มากจนเกินไป รวมถึงสัดส่วนของรายได้ควรจะกระจายกลุ่มลูกค้าเพื่อลดความเสี่ยงให้กับกิจการ

ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน มองว่า ในระยะยาวธุรกิจต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลกของธุรกิจ รวมถึงNew Normalใหม่ ๆ ของสังคมที่จะทำให้บางธุรกิจถูกพลิกโฉมไปตลอดกาล อาทิการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตเพื่อลดต้นทุนค่าแรงงานในระยะยาว รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในด้านการค้า การตลาด การชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีARมาใช้เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจค้าปลีกที่มีPlatform Onlineหรือเป็นE-Commerceสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถลองสินค้าผ่านภาพเสมือนจริงและตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น

ควรเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของการค้าและการลงทุนของโลก หลังCovid-19ที่หลายประเทลศคาดว่าจะลดความยาวของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain)ลง รวมถึงลดการพึ่งพิงการผลิตสินค้าหรือการนำเข้าจากประเทศใดประเทศหนึ่ง และหันไปกระจายการผลิต หรือนำเข้าสินค้าจากหลายๆ ประเทศแทน ตลอดจนอาจมีการลดการลงทุนทางตรง (FDI)จากการที่บริษัทข้ามชาติในหลายประเทศกลับไปผลิตที่ประเทศตนเอง ซึ่งจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นRobotic, 3D printing, IoTทำให้การผลิตทำได้โดยง่าย และไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมากเหมือนในอดีต เพื่อลดความเสี่ยงจากSupply Chainหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและมีการปิดประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น