xs
xsm
sm
md
lg

นางฟ้าของหนู! “แม่เพ็ญ” ฝ่ามรสุมชีวิต สู้เลี้ยงดูเด็กถูกทอดทิ้งเกือบ 30 ชีวิตมาตลอด 20 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “แม่เพ็ญ” ประธานมูลนิธิบ้านสุขใจ ผู้เปรียบเหมือนนางฟ้าของเด็กถูกทอดทิ้ง ให้การเลี้ยงดูเด็กๆ เกือบ 30 ชีวิต ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แม้บางช่วงจะเจอมรสุมชีวิตหนักหนาสาหัสแค่ไหน แต่เธอก็ไม่คิดทอดทิ้งลูกๆ บุญธรรมเหล่านี้

หลายคนที่เคยสัมผัสรสชาติของความยากจน อาจเคยบอกกับตัวเองว่า วันหนึ่งถ้าตนเองพร้อม มีฐานะที่มั่นคงร่ำรวยเมื่อไหร่ จะช่วยเหลือคนที่ยากจน “แม่เพ็ญ” ชญาณ์พิมพ์ ชินปิติวงษ์ ประธานมูลนิธิบ้านสุขใจ จ.นครสวรรค์ ก็เช่นกัน แต่เธออาจต่างจากบางคน เพราะมรสุมชีวิต ได้เปลี่ยนเธอจากเศรษฐี กลายเป็นคนยากจน แถมมีโรครุมเร้า แทบไม่ต่างจากคนพิการ แม้เหลือเงินก้อนสุดท้าย เธอและลูกๆ ก็ไม่ใช้เงินนั้นเพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่กลับเอาไว้เลี้ยงดูเด็กถูกทอดทิ้งอีกหลายชีวิตที่ได้เลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังฐานะร่ำรวย ...คงไม่ง่ายที่จะหาคนเช่นเธอ


“ตอนเราเป็นเด็ก พ่อแม่ฐานะยากจน เราไปโรงเรียน เราไม่มีรองเท้า กระเป๋านักเรียนเราก็คือกระสอบปุ๋ย พ่อเย็บทำให้ บางทีเราโดนล้อ บางทีก็มีความเจ็บปวดกับความด้อยโอกาส ก็เลยคิดว่า สักวันหนึ่งถ้าเรามีความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และฐานะ เราจะอุทิศตัวเองเพื่อสังคม รับเด็กหรือคนที่ด้อยโอกาส เพื่อเปิดโอกาสและให้โอกาส”


ก่อร่างสร้างตัว จนมีความพร้อมทั้งเรื่อง “ครอบครัว-ฐานะ”

“เป็นลูกชาวนา จบแค่ ป.6 สิ่งที่ถนัดที่สุดคือ เกษตร และท้องนา เราก็ต้องพัฒนาอาชีพของเราต่อไป เริ่มวางเคียวเกี่ยวข้าว เป็นรถเกี่ยว เริ่มมีรถเกี่ยว พัฒนาจากรถเกี่ยวที่เราไปรับจ้างเกี่ยว และพัฒนาจากขายอะไหล่ ให้กับคนที่มีรถเกี่ยว และพัฒนามาจนมีโรงงานสร้างซ่อมรถเกี่ยว และผลิตรถเกี่ยวเป็นโลโก้ของตนเอง”


ในที่สุด “แม่เพ็ญ” ก็ได้ทำสิ่งที่ตนเองตั้งใจ คือ การรับเด็กที่ถูกทอดทิ้งมาเลี้ยงดูหลายคนด้วยกัน แต่แล้ว...มรสุมชีวิตก็เล่นงานแม่เพ็ญ จน “บ้านแตก-ตนเองพิการ” ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว อยู่กับลูกแท้ๆ และลูกบุญธรรมเพียงลำพัง


“มรสุมขีวิตของคนเกิดจากเหตุหลายเหตุ บางคนมรสุมเกิดจากธุรกิจอันดับ 1 อันดับ 2 คือบ้านแตก อันดับ 3 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตและอีกคนไม่สามารถประคับประคองชีวิตนั้นต่อไปได้ แต่มรสุมของแม่มันมาครบเลย เพียงแต่จากเป็นกันเท่านั้น ไม่ได้จากตาย เคยได้ยินมั้ย จากเป็นเห็นนิสัย จากตายเห็นน้ำตา มรสุมของแม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่ความจน แต่คือความเจ็บไข้ได้ป่วยในร่างกาย ที่เหมือนคนทุพพลภาพ แม้แต่จะยืนหยัดช่วยเหลือตัวเองยังไม่ได้เลย อันนั้นคือมรสุมที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ว่า บ้านแตกแล้วเสียทรัพย์สินไป เป็นมรสุม มรสุมคือเราไม่สามารถยืน เดิน นั่ง นอนได้ เหมือนคนอื่น จัดอยู่ในคนพิการ นั่นคือมรสุม”


ชีวิตอับจน แทบไม่มีที่ซุกหัวนอน!!

“ตอนนั้นแม่ไม่มีแม้กระทั่งบ้าน ไม่มีทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะอีกฝ่ายหนึ่งเก่ง แต่เราอยู่ในจุดที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ คนที่เก่งกว่าย่อมเอาเปรียบคนที่ด้อยกว่า ตอนนั้นแม่กลายเป็นคนที่ด้อยกว่า ไม่มีแม้กระทั่งหลังคาที่ซุกหัวนอน วัด ชายคาวัด ข้าววัด แล้วเรื่องแม่ก็ดังไปถึงพิจิตร ดังไปทั่วประเทศอยู่ช่วงนั้น พม.บอกว่า คุณชญาณ์พิมพ์ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ก็ไม่สามารถดูแลเด็กทั้ง 6 คนนี้ได้ เพราะฉะนั้น พม.ขอเอาเด็กเข้าศูนย์สงเคราะห์ แม่เลยขอเวลา 2 เดือน ให้โอกาสแม่คิดตัดสินใจ ตลอดเวลา 2 เดือนแม่ถึงรู้ว่า มันทรมานจิตใจมากที่เราจะต้องตัดสินใจเอาเด็ก 6 คนนี่ไปจากชีวิต แล้วเราก็ถามตัวเองว่า เราถึงที่สุดหรือยัง เรายังจะสู้ไหวไหม”

ในที่สุด แม่เพ็ญก็ตัดสินใจสู้ต่อ เพื่อครอบครัวที่เหลืออยู่ คือ ลูกแท้ๆ และลูกบุญธรรมอีกหลายชีวิต โดยมี “ตู่” และ “เตย” ลูกชายและลูกสาว พร้อมสู้ไปกับแม่ เพื่อน้องๆ

“แม่เรียกลูกทั้งสองคนว่า ตอนนี้เราได้เงินค่าเลี้ยงดูบุตรมา 500,000 และแม่ได้ค่าขับไล่ออกจากบ้านมาอีก 1.5 ล้าน แล้วแม่ใช้หนี้ไปตอนนั้น 7 แสน แม่เหลือเงิน 1.3 ล้านบาท เรียกลูกทั้งสองคนมาว่า วันนี้แม่ให้ลูกทั้งสองคนมีส่วนที่จะตัดสินใจคู่กับแม่ว่า เราจะทำอย่างไรกับน้อง จะเอาไว้ หรือเอาเงินตัวนี้ไว้เรียน น้องเตยบอกว่า หนูออกจากโรงเรียนวันนี้ได้เลยแม่ หนูล้างชามก็ได้ อันนี้คือน้อง อันนี้คือครอบครัว ตู่บอกว่า แม่ ผมกู้ กยศ.ได้ อันนี้คือครอบครัว อันนี้คือน้อง แม่เพ็ญเลยคิดว่าสิ่งที่แม่ทำ บางครั้งลูกไม่เข้าใจ แต่กาลเวลาที่ลูกได้เห็นว่านี่คือความสุข คือความทุ่มเท แม่คิดว่าลูกอาจไม่เคยชมแม่ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่แม่ทำ มันดี”

ปัจจุบัน “ตู่” รชต ชินปิติวงษ์ ลูกชายแม่เพ็ญ ได้ลาออกจากงานประจำ เพื่อช่วยแม่เป็นเสาหลักเลี้ยงดูน้องๆ เกือบ 20 ชีวิตที่ยังอยู่ภายใต้ชายคามูลนิธิบ้านสุขใจ ซึ่งตู่ไม่ได้รักเด็กๆ เหล่านี้เหมือนน้อง แต่รักเหมือนพ่อคนหนึ่งที่จะรักลูกของตัวเองเลยทีเดียว!!

“ปกติแล้วผมทำงานประจำ เพิ่งลาออกมาได้ 1 ปีแล้ว ก็กลับมาอยู่บ้านมาช่วยเหลือแม่ ได้เป็นแกนนำให้กับเด็กๆ เพื่อที่ได้ประกอบอาชีพได้ในอนาคต ตอนนี้ก็ทำเกษตร ทำไร่ฟักข้าว รับซื้อและขายส่ง”

“ความที่เราเลี้ยงน้องๆ ตั้งแต่ยังเล็ก ผมทำเป็นหมดตั้งแต่อาบน้ำ เปลี่ยนแพมเพิส เหมือนพ่อคนหนึ่ง ผมก็รักเขาเหมือนคนๆ หนึ่งที่เขาจะรักลูกตัวเอง ผมก็ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นน้อง คิดว่าเขาเป็นลูก ก็มีความเมตตาเป็นที่ตั้ง พอเราเมตตาเสร็จปุ๊บ เราก็จะไม่รังเกียจเขา และไม่ได้นึกถึงชาติกำเนิดเขาว่าเขาจะมาจากไหน เขาไม่ใช่สายเลือดของเรา มันก็จะข้ามตรงนั้นไปได้”

เด็กๆ เคยมีโอกาสเจอแม่แท้ๆ บ้างไหม?

“ได้เจอจริงๆ แค่ 3-4 คนเท่านั้น นอกนั้นครอบครัวไม่ขอเจอ แล้ว 3-4 คนที่ได้เจอ เขาเจ็บหนักกว่าที่เขาจะเป็น เพราะการกลับไปเจอด้วยคำพูดที่แม่เขาพูดใส่เขา เรียก ไอ้ นี่คือความเดือดร้อน มึง กู ว่า เอาไปเลี้ยงแล้ว เอามันกลับมาทำไม มันจบไปแล้ว แล้วก็ไม่ต้องมายุ่งกับครอบครัวเขา นี่คือสิ่งที่ไม่สามารถจะร่วมทางกันได้ นี่คือสิ่งที่เขาทิ้งแล้ว เขาไม่เคยคิดเอาสิ่งนี้กลับคืน และกรุณาอย่าเอาสิ่งนี้มายัดเยียดหรือมาหาเขาอีก ลูกเราเจ็บ แต่ลูกเราก็จะได้มีความสุขใจ ไม่ต้องมาสร้างจินตนาการภาพในอากาศว่า อ้อมกอดแม่บุญธรรมยังมีความสุขอย่างนี้ อ้อมกอดแม่แท้ๆ คงจะมีความสุขยิ่งกว่านี้ แต่ความเป็นจริงแล้ว ตอนแม่แท้ๆ ทำแท้งแล้วทิ้ง มันเหมือนความสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่เราต้องให้ลูกเราได้เห็นด้วยตัวของเขาเองว่า มันสิ้นสุดจริงไหม ไม่ให้ค้างคาใจ” ชญาณ์พิมพ์ ชินปิติวงษ์ (แม่เพ็ญ) ประธานมูลนิธิบ้านสุขใจ เล่าด้วยความเจ็บปวดแทนลูกๆ ที่พ่อแม่แท้ๆ ไม่ต้องการ


“น้องสืบ” ลูกบุญธรรมแม่เพ็ญ ไม่ขอเจอแม่แท้ๆ ข้องใจ “ลูกทั้งคน ทิ้งได้อย่างไร”?

“(ถาม-อยู่ที่นี่มานานหรือยัง?) ตั้งแต่เกิด (ถาม-เราได้กลับไปเจอพ่อแม่แท้ๆ บ้างไหม?) ไม่ (ถาม-ทำไม?) ไม่อยากเจอ เพราะรู้สึกไม่ดี ลูกตั้งคนหนึ่ง ทิ้งได้ยังไง ไม่เข้าใจ (ถาม-แล้วมาเจอแม่เพ็ญ รู้สึกยังไง?) รู้สึกดีใจที่ได้มาอยู่ (ถาม-ถ้าเราโตขึ้น คิดว่าจะทำยังไงต่อ?) เรียนให้จบ และทำงานหาเงินมาดูแลแม่และน้องๆ (ถาม-แม่คือแม่เพ็ญใช่ไหม?) ใช่ (ถาม-ทุกวันนี้แม่เพ็ญเหนื่อยมากเลย มีอะไรอยากบอกเขาไหม?) ก็ขอให้แม่สู้ๆ ต่อไปนะครับ ผมรักแม่ครับ”


มูลนิธิบ้านสุขใจของแม่เพ็ญ ไม่เพียงดูแลเด็กกำพร้า-เด็กถูกทอดทิ้ง โดยใช้คุณธรรมและหลักธรรมเป็นตัวนำในการอบรมให้เด็กเป็นคนดี แต่ที่นี่ยังมีสถานธรรมตั้งอยู่ข้างมูลนิธิฯ อีกด้วย


“สถานธรรมเริ่มมาจากแม่ทอดผ้าป่า ซื้อที่ด้านข้างของมูลนิธิ 1 ไร่ ทำเป็นสถานธรรม และถวายให้ท่านเจ้าคุณวัดอารามหลวง ที่อยู่ตากฟ้า ตั้งแต่ทำเรื่องซื้อเสร็จ ก็ยกถวายท่านและขออนุญาตสร้างเป็นสถานธรรมที่นี่” ตู่ รชต ชินปิติวงษ์ ลูกชายแม่เพ็ญ เล่าที่มาของสถานธรรมให้ฟัง


“เมื่อสถานธรรมเกิดที่นี่ปุ๊บ มีการบิณฑบาตเกิดขึ้น ญาติโยมที่อยู่ในละแวกนี้ เมตตาเด็กๆ เขาก็ใส่บาตร วันหนึ่งก็ 30-40 50 เจ้า แล้วแต่วัน ก็เป็นขุมกำลังหลักที่เลี้ยงดูเด็กๆ คือข้าว 3 มื้อ สถานธรรมสามารถเลี้ยงดูเด็กๆ ได้เลย ตอนเย็นเราก็อุ่นกับข้าวกินกัน ตัดปัญหาเรื่องกินไป ค่าใช้จ่ายหลักๆ มันก็ถูกลบล้างไป”


แม่เพ็ญ และลูกๆ คาดหวังต่อน้องๆ หนูๆ ที่เลี้ยงดูมากับมืออย่างไร?

“ในชีวิตที่คาดหวังสูงสุด อยากให้ลูกสองคนมีความเมตตา อยากให้ลูกสองคนเป็นคนดี อยากให้ลูกสองคนรู้ว่า ชีวิตเราไม่เกินร้อยปี เราเกิดมาทำอะไรให้สังคมและตัวเองได้มากที่สุด คือการคาดหวังอันดับแรก สิ่งที่คาดหวังอันดับที่สอง ว่าจะอยู่กับพี่น้องแบบพี่น้อง และเป็นเด็กดี อยู่ในศีลธรรมจริงๆ ไม่เคยคาดหวังว่าลูกต้องจบปริญญาตรี หรือ ดร.ไม่ได้คาดหวังไรถึงขนาดนั้น” ชญาณ์พิมพ์ ชินปิติวงษ์ (แม่เพ็ญ) ประธานมูลนิธิบ้านสุขใจ


“ความคาดหวังของผมต่อน้องๆ ผมยึดคำพูดของแม่เป็นคติประจำใจว่า เราเลี้ยงเขา เราไม่ได้หวังให้เขามาเลี้ยงเรา เขาโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ เขาทำงานได้ มีอาชีพ มีครอบครัวได้ เขาดูแลตัวเองได้ แค่นั้นก็พอ ไม่จำเป็นต้องกลับมาดูแลผมหรือแม่ เพราะเราไม่ได้คาดหวังตรงนั้นอยู่แล้ว สมมุติว่าเราคาดหวังแบบนั้นไปปุ๊บ เด็กคนใดคนหนึ่ง เขาไปจากเรา เราก็จะผิดหวัง มันก็ทำให้เราทุกข์ใจเปล่าๆ ขอให้เขาดูแลตัวเองได้ ก็พอ” ตู่ รชต ชินปิติวงษ์ ลูกชายแม่เพ็ญ


หากท่านใดต้องการเป็นกำลังใจหรือสนับสนุนทุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพแก่เด็กๆ ในความดูแลของแม่เพ็ญ สามารถบริจาคไปได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาตากฟ้า ชื่อบัญชี มูลนิธิบ้านสุขใจ เลขที่บัญชี 626- 0 -31312-8


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

รับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/

หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos












กำลังโหลดความคิดเห็น