“อนุทิน”ยันให้ความสำคัญและไม่ทอดทิ้งอาสาสมัครกู้ภัยทั่วปท.เพราะทั้งหมดล้วนเป็นกำลังสำคัญช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาลและสธ.สู้ภัยโควิด -19
ณ มูลนิธิร่วมกตัญญู ตำบลบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ได้มีการประชุมการดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ / ร้อยเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมในครั้งนี้
โอกาสนี้ นายอนุทิน ได้ตรวจเยี่ยม และพร้อมมอบขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าอาสาจากมูลนิธิต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเยี่ยมชมวิธีปฎิบัติและขั้นตอนการนำร่างผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ออกจากพื้นที่อย่างถูกวิธี ภายใต้การดูแลของ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ก่อนจะมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากอนามัย / เฟสชิว / ถุงมือ / แอลกฮอล์ / ถุงซิบล็อค เป็นต้น ให้กับตัวแทนจากองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรทั่วประเทศ และกล่าวภายในงานว่า หลังจากการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ทำให้เจ้าหน้าที่จำนวนมากกว่า 30,000 คน ต้องสุ่มเสี่ยงจากโรคระบาด และทุกคนตั้งใจปฎิบัติหน้าที่โดยไม่หวังผลตอบแทน ดังนั้น การส่งเสริมให้ทุกคนได้รับอุปกรณ์ในการป้องกันจึงเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะ นายบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ที่ตั้งใจทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน ซึ่งได้ทำในส่วนที่ราชการไม่ถึง รวมทั้งมีความปรารถนาที่จะให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ตนขอยืนยันว่า จะไม่ทิ้งพี่น้องอาสาทุกท่าน และจะให้การสนับสนุนในการปฎิบัติหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่จากการแพทย์ฉุกเฉินมีความชำนาญในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยรวมถึงกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการทำงานให้ทุกคนได้รับความปลอดภัย รวมถึงการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า จังหวัดสมุทรปราการ เป็นหน้าด่านที่จะรับเชื้อโควิด-19 จึงมีการพัฒนา เพราะสิ่งนี้ทำให้ประเทศไทยสามารถดูแลการระบาดของไวรัสโควิด-19 และทำให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งเพราะทุกหน่วยงานร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ แต่การไม่เจ็บไข้ได้ป่วยคือสิ่งที่ดีที่สุด ตนจึงอยากให้ทุกคนระมัดระวัง และป้องกันตนเอง ถึงแม้ว่าเราจะใส่หน้ากากอนามัยแต่ก็ต้องให้ความสำคัญของการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงมาตรการป้องกันต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งไม่คุ้มค่าที่เราจะติดเชื้อ พยายามอยู่ห่างกันให้มากที่สุด ขณะดัยวกัย ตนมีความห่วงใยกับสื่อมวลชนทุกคนที่จะต้องเข้าใกล้กับแหล่งข่าว รวมถึงเบียดเสียดกันในขณะทำงาน จึงอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับระยะห่างทางสังคม 1 เมตรขึ้นไป ทั้งนี้มาตรการของรัฐบาล ไม่ว่าการทำงานอยู่ที่บ้าน หรือ เวิร์คฟอร์มโฮม รวมถึงการกักตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลดลงได้
ส่วนจำนวนกู้ภัยที่มีถึง 30,000 คนทั่วประเทศ คาดว่าอุปกรณ์จะเพียงพอหรือไม่นั้น นายอนุทิน ยืนยันว่า พยายามจะจัดให้มีเพียงพอ วันนี้ได้มาเห็นความเข้มแข็งของอาสาสมัครกู้ภัยต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นแขนขามือไม้ของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณะสุข เพื่อแบ่งเบาภาระ ซึ่งบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขคงมีไม่พอที่จะไปเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อหรือดำเนินการต่าง ๆ ดังนั้นจึงถือว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการสาธารณสุข ซึ่งจะหารือนำความต้องการของมนิธิขาดเหลืออะไรจะนำมาพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งนำมาสนับสนุนภารกิจ เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆที่มูลนิธิเหล่านี้ทำก็เป็นการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็ต้องให้ความสำคัญ
ส่วนกรณีที่มองว่า อาสาสมัครกู้ภัย เปรียบเป็นด่านท้ายสุดของระบบสาธารสุข นายอนุทิน ยืนยันว่า ไม่มีใครหลังสุดต้องทำงานร่วมกันทุกคนมีความสำคัญหมดใครป่วยแพทย์พยาบาลดูแลคนจ่ายยาคือเภสัชกร คนทำแล็บคือเทคนิคการแพทย์ คนทำระเบียนเวชระเบียนต่างๆเป็นพนักงานบริหารทุกคนเพราะออกไปหมู่บ้านก็มี อสม. คอยคัดกรองหากมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น หรือมีความทุกข์ยากก็มีมูลนิธิอาสาสมัครกู้ภัยอยู่คอยเข้าไปให้การดูแลกับประชาชน ไม่มีคนไหนอยู่ข้างหลังมีแต่อยู่แถวเดียวกันหมดคนที่อยู่ข้างหลังคือรัฐบาลที่คอยสนับสนุนผักดันให้พี่น้องทำคุณประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมืองในภาวะวิกฤตกับสถานการณ์เช่นนี้ได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั้งหลาย
ส่วนกรณี เรื่องเตรียมปลดล็อคประเทศนั้น นายอนุทิน ยืนยันว่า เรื่องนี้หน่วยงานที่ออกนโยบายหลัก คือ รัฐบาล หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นเพียงหนึ่งขาที่จะนำเสนอมาตรการต่าง ๆ ให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาร่วมกับข้อเสนอของหน่วยอื่นด้วย ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ และคมนาคมเป็นต้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นหนึ่งในนั้นที่จะเสนอเรื่องการแพทย์ การพยาบาล และการเฝ้าระวังต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่จะต้องทำและต้องรายงานเสนอไปยังผู้กำหนดนโยบายต่อไป
ส่วนกรณีที่ คณะรัฐมนตรี มีมติตัดงบประมาณ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรืองบ “บัตรทอง” นั้น นายอนุทิน ย้ำว่าเรื่องนี้ เรียบร้อยแล้ว เมื่อวานนี้ ทางทำเนียบรัฐบาล โฆษกรัฐบาล ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณชี้แจงชัดเจนแล้วว่าไม่มีการแตะสิทธิใด ๆ ของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารจัดการภายใน การบริหารบัญชี ยืนยันประชาชนไม่ต้องกังวล ไม่มีสิทธิใด ๆ ของประชาชนนิดเดียวที่ถูกนำออกไป ขอให้เชื่อมั่นในระบบการสาธารณสุขของประเทศนี้ไม่มีใครไปแตะต้องอยู่แล้ว