xs
xsm
sm
md
lg

สจล.ส่งมอบตู้ตรวจเชื้อ SWAB TEST ช่วยแพทย์คัดกรองผู้ป่วย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สจล. ส่งมอบตู้ตรวจเชื้อ SWAB TEST ตัวช่วยแพทย์คัดกรองผู้ป่วยอย่างปลอดภัย ให้แก่ 4 รพ. ในกรุงเทพฯ พร้อมเร่งผลิตเพื่อแจกจ่ายทั่วประเทศ

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีประโยชน์ และสามารถช่วยบุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างปลอดภัย เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศไทยในช่วงเวลานี้ ศูนย์รวมนวัตกรรมสู้โควิด-19 (KMITL GO FIGHT COVID-19) โดยทีมนักวิจัย และพัฒนานวัตกรรม สจล. เดินหน้าผลิตนวัตกรรมเพื่อส่งมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้เปิดตัวนวัตกรรมตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) ทั้งแบบตู้ความดันลบ (Negative pressure) และตู้ความดันบวก (Positive pressure) หรือ “COVID-19 Test Station” สำหรับการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ ศูนย์นวัตกรรมฯ ได้เตรียมผลิตเพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาล และหน่วยงานที่มีความต้องการใช้เครื่องมือดังกล่าว โดยศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 จัดตั้งขึ้นภายใต้โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด (KMITL 60th Year: Go Beyond the Limit) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคมก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้ผลิตตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) โดยการใช้งานของตู้ดังกล่าว เป็นรูปแบบที่ผู้เข้ารับการตรวจเชื้อเข้าไปนั่งในจุดที่กำหนด เพื่อให้แพทย์สอดมือเข้าไปในช่องเพื่อทำหัตถการ Swab เชื้อจากช่องโพรงจมูกและกระพุ้งแก้มของผู้ป่วย ผ่านระบบเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยแบบปลอดเชื้อ โดยภายในห้องใช้ระบบควบคุมความดันลบ พร้อมติดตั้งระบบกรองและฆ่าเชื้อด้วย UV-C และ HEPA ก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้ออกสู่ภายนอกเมื่อเปิดประตู รวมถึงควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อขณะแพทย์ทำหัตถการ

อีกทั้งมีระบบฆ่าเชื้อด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์ และหลอดไฟฆ่าเชื้อ UV ทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการตรวจเชื้อรายต่อไป นอกจากนี้ตู้ดังกล่าวยังถูกออกแบบให้เคลื่อนที่ได้ เพื่อความสะดวกในการขนย้าย และสามารถเคลื่อนไปตั้งที่จุดคัดกรองในสถานที่ต่างๆ ตามความต้องการใช้งาน

ด้าน ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเพิ่มว่า ทีมนักออกแบบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ได้ออกแบบตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันบวก (Positive Pressure) หรือ “COVID-19 Test Station” ซึ่งมีหลักการใช้งานตรงข้ามกับตู้แบบความดันลบ โดยตู้แบบความดันบวก มีรูปแบบการใช้งานที่แพทย์เข้าไปนั่งประจำอยู่ในห้อง และผู้ตรวจเชื้อจะเข้าแถวโดยเว้นระยะห่างกันจุดละ 1 เมตร เพื่อเข้ารับการตรวจเชื้อ ผ่านช่องที่แพทย์สามารถสอดมือเพื่อทำการ Swab เชื้อจากผู้ป่วย ภายในห้องใช้ระบบควบคุมความดันเป็นบวก เพื่อควบคุมอากาศจากภายนอกที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อ ไม่ไหลเข้าสู่ภายในห้อง เพิ่มความปลอดภัยให้แก่แพทย์

ระบบการเก็บเชื้อ ยังเป็นแบบลิ้นชักส่งอุปกรณ์ระหว่างแพทย์กับผู้ตรวจเชื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศเข้า เมื่อแพทย์เก็บเชื้อและบันทึกผลการตรวจลงในเอกสาร สามารถส่งผลตรวจผ่านช่องส่งเอกสารที่ประตูทางเข้าของทีมแพทย์ได้ เพื่อให้บุคลากรนำผลการตรวจไปทำงานต่อ ทั้งนี้ หลักการติดตั้งของตู้ดังกล่าว ใช้วัสดุที่ติดตั้งง่าย ใช้เวลาประกอบได้รวดเร็ว เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายและติดตั้ง

สจล. ได้ส่งมอบ ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) ให้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ในขณะที่ ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันบวก Positive Pressure) หรือ “COVID-19 Test Station” ถูกติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ และพร้อมใช้งานที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ทั้งรูปแบบตู้เดี่ยว และตู้สำหรับแพทย์ 3 คนปฏิบัติหน้าที่ โดยเตรียมผลิตและส่งมอบต่อให้แก่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

นอกจากนี้ สจล. ได้นำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ อาทิ หุ่นยนต์ขนส่งเวชภัณฑ์ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วย UV-C และเครื่องอบฆ่าเชื้อโรคในระบบปิด ให้แก่โรงพยาบาลที่ได้นำตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) ไปส่งมอบ พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดตัวห้องแยกโรคความดันลบ (Negative Pressure Room) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สจล. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และบริษัท NL Development ที่ถูกจัดตั้งเสร็จสมบูรณ์ พร้อมใช้งานได้ทันที 5 ห้องตรวจ ที่วชิรพยาบาล (โรงพยาบาลวิชิระ) รวมทั้งนำต้นแบบเครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก (Mini Emergency Ventilator) ไปทดสอบการทำงานให้แก่ทีมแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเตรียมผลิต แจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาล สำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในลำดับต่อไป

สำหรับโรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่สนใจรับคำแนะนำ และต้นแบบการผลิตนวัตกรรมดังกล่าว สามารถติดต่อสำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทร. 091-812-0416 หรืออีเมล kannika.li@kmitl.ac.th ทั้งนี้ สจล. ยังเปิดระดมทุนบริจาคเพื่อต่อยอดการผลิตและแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยหากประชาชนสนใจสามารถร่วมบริจาคได้ที่ ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี สจล. นวัตกรรมสู้ COVID-19 เลขที่บัญชี 693-031-750-0








กำลังโหลดความคิดเห็น