xs
xsm
sm
md
lg

โลกรู้จักหน้ากากอนามัยตั้งแต่ศตวรรษที่17

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หน้ากากอนามัยกลายเป็นปัจจัยที่5ของหลายคนในช่วงโรคระบาดโควิด19 แม้จะยังมีการถกเถียงถึงความจำเป็นของมันเนื่องจากค่านิยมที่แตกต่างกันระหว่างโรคตะวันตกและตะวันออก แต่แท้ที่จริงแล้วชาวยุโรปเองก็ใช้หน้ากากอนามัยกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่1

จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั่วโลกผ่านหลักล้านคนไปแล้ว

ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกยังพุ่งไม่หยุดใกล้แตะหลักแสน เมื่อปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกากับกลุ่มประเทศในเอเชียมีความแตกต่างกันอย่างมาก ผู้เสียชีวิตในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกามีจำนวนมากกว่า 80% ของผู้เสียชีวิตทั่วโลก จำนวนผู้ติดเชื้อระหว่างสองภูมิภาคนี้ก็มีความแตกต่างกันมากเช่นกัน

ยุโรปและอเมริกากลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดแซงหน้าจีนและประเทศในเอเชีย การดำเนินนโยบายป้องกันโรคระบาดที่ใช้เหมือนกันทั่วโลกคือมาตรการ social distancing แต่นโยบายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกคือค่านิยมเรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัย ในยุโรป ผู้ที่ใส่หน้ากากอนามัยจะถูกมองว่าเป็นผู้ป่วยทันที แม้แต่องค์การอนามัยโลกยังแนะนำประชาชนว่าไม่ควรใส่หน้ากากอนามัยหากไม่ได้ติดเชื้อโควิด19 องค์การอนามัยโลกย้ำว่าบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นคือผู้จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัย และไม่แนะนำให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยเว้นแต่มีอาการป่วย

จนเมื่อต้นเดือนเมษายนองค์การอนามัยโลกต้องกลับลำครั้งใหญ่ แถลงสนับสนุนให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัย โดยให้ใช้หน้ากากผ้าหรือหน้ากากที่ทำขึ้นเองสำหรับประชาชนทั่วไป ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการพิเศษโครงการสาธารณสุขฉุกเฉินWHO กล่าวว่าการสวมใส่หน้ากากจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อ ขอสนัสนุนทุกรัฐบาลใช้การสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นหนึ่งในแผนควบคุมการติดเชื้อโรคโควิด19 ขณะที่การใช้หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่คุ้นเคยสำหรับประเทศในแถบเอเชีย
จุดเปลี่ยนสำคัญเริ่มในปี2002 ช่วงการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในจีน การระบาดของโรคซาร์ส หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ที่เริ่มระบาด

ในจีน ก่อนแพร่กระจายไปยังสิงคโปร์และไต้หวันในปี 2003

วัยรุ่นจีนยุคใหม่มองว่าหน้ากากอนามัยคือ”items”หนึ่งเมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะ ผู้สูงอายุในไต้หวันนิยมใส่หน้ากากอนามัยและแว่นกันแดดอยู่แล้ว
การที่ผู้คนในแถบเอเชียคุ้นเคยกับการใช้หน้ากากอนามัย ทำให้ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด19 การสวมใส่หน้ากากอนามัยจึงเป็นมาตรการป้องกันตนเองจากที่อาจส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อระหว่างสองภูมิภาคมีความแตกต่างกัน

แต่ความจริงแล้วชาวยุโรปอาจลืมประวัติศาสตร์ของตัวเองเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัย ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าครั้งแรกที่มนุษย์รู้จักการใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเกิดขึ้นในศตวรรษที่17 ที่ยุโรปต้องเผชิญกับโรคระบาดกาฬโรค หรือ Black Death
หน้ากากอนามัยในยุคนั้นหน้าตาจะคล้ายส่วนหัวของนก ด้านหน้าที่คล้ายปากนกจะมีช่องสำหรับใส่ดอกไม้หรือสมุนไพรเพื่อป้องกันการสูดดมอากาศพิษเข้าสู่ร่างกาย

ต่อมาช่วงปี 1910 เกิดโรคระบาดแมนจูเรีย โดยเริ่มจากประเทศมองโกเลียก่อนแพร่กระจายไปรัสเซียและญี่ปุ่น
นายแพทย์ Wu Lien-teh แพทย์ชาวจีนได้คิดค้นหน้ากากผ้าฝ้ายขึ้น เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปที่เสี่ยงติดเชื้อสวมใส่ นับเป็นครั้งแรกที่เริ่มมีการใช้หน้ากากอนามัยเป็นวงกว้าง

ต่อมาในช่วงปี 1918-1920 การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากถึง 50-100 ล้านคน แพทย์และพยาบาลในยุคนั้นต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ทำการรักษาคนไข้

จากหลักฐานบันทึกภาพถ่ายจะพบว่าประชาชนในยุคนั้นต้องผลิตหน้ากากผ้าใช้กันเอง ซึ่งมีรูปแบบหลากหลายเนื่องด้วยความรู้และข้อมูลทางการแพทย์ที่ยังไม่แพร่หลายนัก ไข้หวัดใหญ่สเปนสร้างผลกระทบให้กับประชากร500ล้านคนทั่วโลกในเวลาประมาณ 2 ปี มันค่อยๆหายไปในปี1920 จากสมมติฐานว่าไวรัสกลายพันธุ์จนถึงจุดที่รุนแรงที่สุดแล้วมันจึงค่อยๆลดน้อยลง ประกอบกับร่างกายมนุษย์สามารถปรับตัวสร้างภูมิต้านทานไวรัสได้เอง

แต่สำหรับโควิด19 ยังไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะขึ้นถึงจุดสูงสุดเมื่อใดและไปสิ้นสุดที่ตรงไหน สิ่งที่มนุษย์จะทำได้คือเรียนรู้จากความผิดพลาดครั้งก่อน นั่นคือผลร้ายของความพยายามปิดข่าว และการเพิกเฉย จนนำไปสู่จุดที่ไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น