xs
xsm
sm
md
lg

กกร.ประเมินโควิด ทำศก.ไทยเสียหายหลักล้านล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกร. รอประเมินมาตรการเยียวยาภาครัฐ ก่อนปรับจีดีพีปีนี้อีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่า โควิด-19 จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย หลักล้านล้านบาท พร้อมเสนอมาตรการเพิ่มเติม เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน

วันนี้ (8 เม.ย.) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย หารือผลกระทบเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์

พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ชัดเจนขึ้น โดยเกือบทุกเครื่องชี้เศรษฐกิจหลักหดตัวลง ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก การผลิต การลงทุน มีเพียงการบริโภคสินค้าไม่คงทน ที่ยังขยายตัว

แม้สถานการณ์ระบาดในจีน จะทยอยคลี่คลาย แต่การระบาดนอกจีน และในประเทศไทย ยังรุนแรง ทำให้นานาประเทศ ออกมาตรการควบคุมเพิ่มเติม เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่ภาครัฐประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม - 30 เมษายน 2563 และมีมาตรการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

กกร. ประเมินความเสียหายเบื้องต้น จากการระบาดของโควิด ต่อเศรษฐกิจไทย อาจมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท ,กระทบการจ้างงานหลายล้านคน ซึ่งที่ประชุม กกร. ประจำเดือนเมษายนนี้ ยังไม่พิจารณาปรับจีดีพีในเดือนนี้ โดยต้องการรอประเมินผลกระทบ และผลของมาตรการภาครัฐ ที่ออกมาดูแลและเยียวยาผลกระทบ ทั้งระยะที่ 1 ,2 และ ล่าสุด มาตรการระยะที่ 3 ทั้ง พ.ร.ก.กู้เงิน ,การเลื่อนชำระหนี้ให้เอสเอ็มอี ,การจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเอสเอ็มอี ก่อน

นอกจากนี้ กกร.มีมติจัดตั้ง E-Commerce Platform เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงตลาดใหม่ๆได้มากขึ้น และเสนอมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือด้านแรงงานจากสถานการณ์โรคโควิด-19

โดยในส่วนของมาตรการด้านผู้ประกอบการ

1.ขอให้ภาครัฐพิจารณาออกคำสั่งปิดกิจการของรัฐ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด (โดยยกเว้นให้โรงแรมหรือบริการอื่นๆ ที่มีความจำเป็น สามารถเปิดกิจการโดยความสมัครใจ อาทิ เป็นที่พักบุคคลากรทางการแพทย์ หรือ ที่พักของผู้กักตัว เป็นต้น)

2.ขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ และปัจจุบันต้นทุนค่าน้ำมันได้ลดลงอย่างมาก จึงขอให้ค่า FT สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงด้วย

3.เพิ่มสภาพคล่องโดยการอัดฉีดวงเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% โดยให้ บสย.ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มจาก 40% เป็น 80%

4.ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของ Covid-19

5.รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้า จากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) ในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้ใน Covid-19

ส่วนมาตรการด้านแรงงาน
1.ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยรายได้ โดยพนักงานที่เข้าระบบ Leave without pay จะไม่สามารถได้รับเงินชดเชยการหยุดกิจการของสถานประกอบการชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐ และไม่เข้าหลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาท ดังนั้น ควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายเงิน 50% ของค่าจ้าง ตามที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

2.อนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็น ชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และ ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน (ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน)

3.ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จาก 4% เหลือ 1% ให้เท่ากับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33

4.เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทโดยยังได้รับ เงินเดือน 75% และไม่ตกงาน รวมทั้งสามารถช่วยเหลือ โดย บริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีโอกาสปลดแรงงานออก สามารถที่จะจ่ายเงินเดือนในจำนวนเงิน 75% ของเงินเดือนที่ได้รับปกติ โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างเงินเดือน 50% (จากประกันสังคม) และบริษัทเอกชนจ่ายอีก 25% ให้พนักงานและแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท

5.บริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างแรงงานมาใช้หักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงระหว่าง COVID-19 ระบาด

ทางด้านมาตรการด้าน Logistic กกร.ระบุว่า ปัจจุบันแต่ละจังหวัด มีการประกาศมาตรการไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดปัญหาในการขนส่ง กกร.จึงขอเสนอให้ ศบค. ประกาศมาตรการจากส่วนกลางเพื่อปฎิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ โดยขอให้ กกร. มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการเพื่อให้สามารถปฎิบัติได้

กกร.ย้ำว่า ภาคเอกชนพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ บูรณาการ กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในช่วงภาวะฉุกเฉิน และหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

กำลังโหลดความคิดเห็น