ธปท.ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย จำนวน 6 กลุ่ม เริ่ม 1 เม.ย. 63
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน แถลงมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำ สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ( NPL) เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่ามาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้จะไม่ทำให้ลูกหนี้เสียเครดิต หรือเสียประวัติการผ่อนชำระหนี้
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำ แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ลูกหนี้ กลุ่มบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน ให้ลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ จากเดิม 10% เหลือ 5% ในปี 2563-2564 และเพิ่มเป็น 8% ในปี 2565 และเป็น 10% ในปี 2566 นอกจากนี้ให้ลูกหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยต่ำลงได้
2.กลุ่มหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ให้ธนาคารพาณิชย์สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ส่วนผู้ให้บริการอื่นเลือกดำเนินการระหว่าง เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ ลดค่างวดอย่างน้อย 30% ของค่างวดเดิมเป็นเวลา 6 เดือน
3.กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ รถมอเตอร์ไซต์ วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท รถทุกประเภท วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท
4.กลุ่มลีสซิ่ง มูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท ผู้ให้บริการเลือกดำเนินการระหว่าง เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ พักชำระหนี้เงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน
5.กลุ่มสินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท และ6.กลุ่มสินเชื่อธุรกิจ SMEs ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท พักชำระเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามสถานการณ์ของแต่ละราย ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำดังกล่าวกำหนดให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน2563 เป็นต้นไป
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า มาตรการขั้นต่ำที่ประกาศในวันนี้ เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะมีหลายคนพยายามติดต่อเข้าไปที่สถาบันการเงิน เพื่อเจรจาขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อมีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น ทำให้การติดต่อทำได้ยากลำบาก
ดังนั้นมาตรการขั้นต่ำ จะช่วยลดภาระ และช่วยลดความกังวล ที่จะต้องชำระค่างวดตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นไป ซึ่งลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการขั้นต่ำครั้งนี้ รวมทั้งโครงการพิเศษที่แต่ละสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ จะไม่มีผลต่อข้อมูลเครดิตของลูกหนี้