xs
xsm
sm
md
lg

คลังแจงเงื่อนไขแรงงานนอกระบบรับเงินเยียวยาโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงการคลัง เร่งจัดทำเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” ก่อนจะเปิดให้แรงงานนอกระบบ ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา ตามมาตรการรัฐ 28 มี.ค.นี้

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ชี้แจงขั้นตอนการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาของแรงงานนอกระบบ ตามมาตรการเยียวยา ระยะที่ 2 เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถทำได้ 2 วิธี คือ ช่องทางออนไลน์ ยื่นคำขอออนไลน์ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ขณะนี้กำลังเร่งจัดทำเว็บไซต์

ส่วนช่องทางออฟไลน์ ติดต่อธนาคารรัฐ คือ ธนาคารออมสิน ,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. และธนาคารกรุงไทย แต่กระทรวงการคลัง ต้องการให้ยื่นเรื่องผ่านออนไลน์มากกว่า เพื่อลดการแพร่เชื้อ คาดว่า จะเปิดให้ลงทะเบียนได้ ไม่เกินวันเสาร์ที่ 28 มีนาคมนี้

ผู้ที่มีสิทธิ ต้องเป็นแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดกิจการ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทรวงการคลังสามารถตรวจสอบได้โดยใช้ระบบเอไอ (AI) ตรวจสอบลิงก์ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานประกันสังคม จึงยืนยันว่า มีระบบคัดครองอย่างดี เพราะเคยแจกเงินมาแล้วหลายครั้ง จึงมีประสบการณ์ตรวจสอบเป็นพิเศษ

ผู้ที่มีคุณสมบัติครบ จะได้รับเงินภายใน 5 วัน โดยจะโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือ หากใครไม่มีพร้อมเพย์ จะโอนผ่านบัญชีธนาคาร โดยการโอนเงิน จะเริ่มเดือนเมษายน เป็นเวลา 3 เดือนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ใช้เงินจากงบกลาง รายจ่ายฉุกเฉิน ประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท


ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงมาตรการยืดระยะเวลาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากกำหนดเดิมสิ้นสุดมิถุนายน เป็นสิงหาคม 2563 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนผู้เสียภาษี และทำให้มีเม็ดเงินใช้จ่ายกว่า 20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาค่าตอบแทนค่าเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ รวมทั้งพนักงานขับรถส่งผู้ป่วยด้วย

ส่วนการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทที่ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะขยายไปถึงเดือนสิงหาคม 2563 เพราะนักตรวจสอบบัญชี ไม่สะดวกที่จะเข้าตรวจสอบบัญชีให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้

สำหรับการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) จะขยายถึง 30 กันยายน 2563 กรณีเกิดเหตุปิดกิจการ จากการสั่งปิดของราชการ กรมสรรพากร จะอนุญาตเลื่อนเป็นรายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ ภาษีอื่นๆ ซึ่งเป็นอำนาจกระทรวงการคลังดำเนินการได้ ส่วนการยกเว้นภาษีปรับโครงสร้างหนี้ จะยกเว้นเพิ่มเติมให้ธุรกิจนอนแบงก์ เช่น บัตรเครดิต เช่าซื้อ หากมีภาระภาษีที่เกี่ยวกับการปลดหนี้ โอนทรัพย์สิน ตัดหนี้สูญ จะยกเว้นให้ เพื่อช่วยผ่อนคลายกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ให้คำมั่น “ดูแลประชาชนทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พร้อมออกมาตรการที่เหมาะสมเพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงที เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

กำลังโหลดความคิดเห็น