xs
xsm
sm
md
lg

ภาคเอกชน ยืนยันมีสินค้าอุปโภคบริโภคเพียงพอ รองรับความต้องการของประชาชนช่วงการระบาดของโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พาณิชย์ ดึง ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งระบบ รับมือ Covid-19 ยืนยันมีสินค้าเพียงพอรองรับความต้องการของประชาชน

วันนี้(7มี.ค.)นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อทำงานเชิงรุกและรับมือในสถานการณ์Covid-19 โดยใช้เวลาประชุมตั้งแต่เวลา 14.00น.-17.00 น.

ผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 43 ราย ประกอบด้วย สมาคม จำนวน 9 สมาคม (สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย สมาคม ผู้ผลิตอาหารสาเร็จรูป สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้ผลิตไก่ เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยา แผนปัจจุบัน และสมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์) ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 22 ราย (หมวดของใช้ประจาวัน 5 ราย หมวดอาหารและเครื่องดื่ม/ผลิตภัณฑ์นม 14 ราย ยาและเวชภัณฑ์/เจลล้างมือ 9 ราย) ห้างสรรพสินค้า จำนวน 6 ราย

หลังการประชุม นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้หารือแนวทางรองรับมาตรการของรัฐบาลที่มีแนวโน้มสนับสนุนค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่งให้พี่น้องประชาชนในกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องได้รับการเติมเม็ดเงินเข้าไปบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งผ่านการพิจารณาจากครม.เศรษฐกิจแล้ว เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่จะถึงนี้ซึ่งอาจจะทำให้ความต้องการสินค้าบริโภคเพิ่มขึ้น

การหารือในวันนี้มีการหารือ ข้าวถุง เจลล้างมือ อาหารสำเร็จรูปและสินค้าอื่นๆเช่น สบู่เหลว กระดาษทิชชู เป็นต้น เพื่อให้แต่ละกลุ่มผู้ผลิตช่วยรายงานสถานการณ์ ซึ่งทำให้ได้เห็นภาพรวมว่า แนวโน้มยอดขายอาหารสำเร็จรูปผ่านช่องทางออนไลน์มีเพิ่มขึ้นและได้รับแจ้งว่ากำลังการผลิตปัจจุบัน ยังอยู่ประมาณ70% ซึ่งยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก30%

ด้าน ดร.ระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์ นายกผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ยืนยันว่าในภาวะ COVID-19 ที่เข้ามาในบ้านเรา สมาคมฯสามารถผลิตสินค้าป้อนให้กับตลาดได้ ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจได้ว่าข้าวสารจะไม่ขาดตลาด

นางณัฏฐินี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโสส่วนองค์กรและสื่อมวลชนสัมพันธ์บริษัทยูนิลิเวอร์ รายงานว่า ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ายูนิลิเวอร์ อยู่คู่กับสังคมไทยมานานและฝ่าฟันวิกฤติมาร่วมกันและกำลังจะร่วมฝ่าฟันวิกฤติตการณ์ COVID-19 ร่วมกับประเทศไทย

โดยในส่วนของอาหารสำเร็จรูป รวมทั้งสบู่,น้ำยาซักผ้า, รวมทั้งสินค้าที่จำเป็นสำหรับการฆ่าเชื้อ ทางยูนิลิเวอร์เตรียมพร้อมขยายการผลิตเพื่อสนองความต้องการของประชาชนเรียบร้อยแล้ว

นางพิชชาภรณ์ อาชชวงศ์ทิพย์ สมาคมผู้ประกอบการอาหารสำเร็จรูป แจ้งว่า ปัจจุบันยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่อีก 30% ประชาชนจึงไม่ต้องเป็นห่วงถึงปัญหาการขาดแคลนอาหาร

ดร.สัมฤทธิ์ ยิบยินธรรม บริษัท ริเวอร์ โปร พัลพ์แอนด์เปเปอร์ ผู้ผลิตกระดาษทิชชู รายงานว่า ปริมาณความสามารถในการผลิตกระดาษทิชชูของประเทศไทยยังมีเพียงพอเหลือเฟือ

ดังนั้นจะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนแต่เราอาจจะยังเห็นว่า สินค้าพร่องไปจากชั้นวางบ้าง เนื่องจากสินค้าทิชชู่ใช้เนื้อที่ในการวางเยอะ หากทางห้างเติมสินค้าไม่ทันอาจจะดูเหมือนของขาดแต่ในความเป็นจริงยังมีปริมาณเหลือเฟือ

นอกจากนี้ผู้แทนจากยูนิลีเวอร์ ยืนยันว่า พร้อมออกผลิตภัณฑ์เจลล้างมือขนาดเล็กเพื่อให้ประชาชนพกพานำไปใช้ได้และพร้อมหาบรรจุภัณฑ์และวัตถุดิบมาผลิตเพิ่มเติมจึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า สบู่เหลวยูนิลิเวอร์ได้ขยายกำลังการผลิตเรียบร้อยแล้วซึ่งมีอยู่หลายแบรนด์

รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีสารต่อต้านแบคทีเรียโดยมีการขยายกำลังการผลิต เพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัว

ดร.ฉัตรชัย ดวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมค้าปลีกไทย รายงานว่าร้านค้าปีกไทย ก็ยืนยันว่า สินค้ายังไม่ขาดตลาด และยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก โดยมั่นใจว่า จะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนเหมือนช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพราะปัจจุบัน ไม่มีปัญหาการขนส่งเหมือนช่วงน้ำท่วม

อีกทั้งขณะนี้สินค้าก็ยังมีพร้อมโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ขอให้ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง

นายสมชาย พรรัตนเจริญ ผู้แทนจากสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย ย้ำว่า สินค้าไม่ขาดแคลน และมีสินค้าเต็มอยู่ทุกที่

ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย ชี้แจงว่า กระทรวงฯจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะประสานงานกับผู้ผลิตผู้ค้าสมาคมต่างๆตลอดเวลาโดยมีกรมการค้าภายในเป็นหน่วยงานหลักในการคลี่คลายสถานการณ์

ขณะเดียวกัน การประชุมครั้งนี้ ยังมีการหารือประเด็นหน้ากากอนามัย โดยขณะนี้สถานการณ์ลิตหน้ากากอนามัยแบบสีเขียวที่ใช้กันอยู่สามารถผลิตได้เดือนละ 36,000,000 ชิ้นโดยมีผู้ผลิตรวมกัน 11 โรงงาน

หากมาทอนเป็นวัน จะเป็นวันละ 1.2 ล้านชิ้น ซึ่งตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยโดยมีผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขคือนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ได้มาร่วมบริหารจัดการกับอธิบดีกรมการค้าภายในนายวิชัย โภชนกิจ โดยมีมติให้จัดสรรหน้ากากอนามัยให้สถานพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ป่วยเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด

นายจุรินทร์ ย้ำว่า สถานพยาบาลทั่วประเทศทุกประเภทจะได้รับการจัดสรรวันละ 700,000 ชิ้นโดยให้รองเลขาธิกา อย. นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์เป็นผู้บริหารจัดการหลักในการจัดสรรหน้ากากอนามัยไปสู่สถานพยาบาลทั่วประเทศ

ส่วนอีก 500,000 ชิ้น อธิบดีกรมการค้าภายใน จะเป็นผู้บริหารจัดการ จัดสรรและกระจายผ่านช่องทางต่างๆไปสู่ประชาชนกลุ่มอื่นๆ

โดยตัวเลขกระจาย 700,000 ชิ้นได้ถูกกระจายไปองค์การเภสัชกรรม 430,000 ชิ้น,สถานพยาบาลเอกชน 140,000 ชิ้น,โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยเช่นโรงพยาบาลศิริราช,รามาธิบดี 60,000 ชิ้น และโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 70,000 ชิ้น รวมแล้วเป็น 700,000 ชิ้น

ซึ่งเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยขนาดใหญ่ได้ส่งโรงพยาบาลศิริราช 60,000 ชิ้นและโรงพยาบาลเอกชนหลายโรง เช่นโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่น โรงพยาบาลวิภาราม โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ โรงพยาบาลพระรามเก้า สำนักอนามัยกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ฯลฯ

สำหรับตัวเลขวันที่ 7 มี.ค. ศูนย์กระจายหน้ากากจะกระจายตัวเลขหน้ากากที่ใกล้เคียงกับของเดิม
และจะทยอยจัดสรรอีกเป็นลำดับโดยจะมีการประชุมศูนย์กระจายหน้ากากทุกวัน

ซึ่งนับจากวันนี้อธิบดีกรมการค้าภายในและรองเลขาธิการ อย. รวมทั้งสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและอื่นๆรวมทั้งองค์การเภสัชกรรม จะประชุมร่วมกันตลอด

นายจุรินทร์ ยังย้ำถึง ประกาศคณะกรรมาธิการกลาง ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ล่าสุด ได้ออกประกาศ3ฉบับ

กำหนดเนื้อหาให้ผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกหรือผู้ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายหน้ากากอนามัยจะต้องแจ้งข้อมูลมายังกรมการค้าภายในซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการทุกวัน

และให้จำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคาไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมเป็นต้นไป

ยกเว้นหน้ากากอนามัยที่ผลิตจาก 11 โรงงาน ที่อาจมีต้นทุนในการผลิตแตกต่างกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ได้นำมาบริหารจัดการแค่ครึ่งเดียวคือ 600,000 ชิ้น

ที่เหลืออีก 600,000 ชิ้นโรงงานนำไปจัดจำหน่ายเอง ซึ่งจะให้เวลาถึงวันอาทิตย์ที่ 8 มี.ค.นี้

และตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 มี.ค.63เป็นต้นไป ต้องจำหน่ายในราคา 2.50 บาททั่วประเทศ

สำหรับหน้ากากทางเลือก หรือ หน้ากากอนามัยนำเข้า ได้กำหนดราคาขายสูงสุด ต้องไม่เกินไปกว่าต้นทุนนำเข้าหรือต้นทุนการผลิตบวกกับราคาที่ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตขายให้กับผู้ค้าส่งได้ไม่เกิน 10% ของต้นทุนการผลิตหรือนำเข้า

และเมื่อถึงมือผู้ค้าส่งแล้ว ผู้ค้าส่งจะขายไปยังผู้ค้าปลีก ก็จะบวกได้ไม่เกินอีก 10% เช่นเดียวกัน ซึ่ง 10% ที่ว่านี้ รวมถึงค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่ง ค่าตอบแทนและอื่นๆแล้ว

ส่วนผู้ค้าปลีก สามารถบวกเพิ่มไปอีกไม่เกิน23 %ซึ่งได้รวมค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่ง ค่าตอบแทนและต้นทุนอื่นๆแล้ว ซึ่งเมื่อรวมทุกขั้นตอนทั้งหมดแล้วจะต้องไม่เกิน 60%

ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อต้นทุน 1 บาทก็จะนำไปขายถึงมือผู้บริโภคได้ไม่เกิน 1.60 บาท

และประกาศอีกฉบับ คือ เรื่องเจลล้างมือซึ่งขณะนี้เป็นสินค้าควบคุมแล้ว คือ ควบคุมราคา ห้ามขายสูงกว่าราคาที่ได้แจ้งไว้
ทั้งหมดนี้ไม่รวมหน้ากากทางเลือกที่เรียกว่าหน้ากากผ้า ซึ่งรัฐบาลกำลังส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปผลิตใช้ได้เองและรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้ 225 ล้านบาทแก่กระทรวงมหาดไทยในการผลิตหน้ากากผ้า 50,000,000 ชิ้น ที่จะไม่รวมอยู่ในประกาศของกระทรวงพาณชย์ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมให้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ถูกผลิตวันละ 1,200,000 ชิ้นได้นำไปใช้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงที่สุดก่อน

สำหรับประชาชนทั่วไปขอให้ใช้เท่าที่จำเป็นและให้ใช้หน้ากากผ้าซึ่งกระทรวงสาธารณสุขรับรองแล้วว่า สามารถนำมาใช้ได้

หากมีผู้ใดขายเกินราคาที่กำหนดไว้ จะถูกข้อหาขายเกินราคา มีโทษจำคุก 5ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

หรือหากขายในราคาสูงเกินควรจะถูกข้อหาจำคุก7ปี ปรับ 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี ซึ่งจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด

สำหรับผลดำเนินคดีจนถึงเมื่อวาน(6 มี.ค.)ดำเนินคดีไปแล้ว 89 ราย










กำลังโหลดความคิดเห็น