กนอ. ระบุ ยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ปิดตัว จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เชื่อ หากการแพร่ระบาดในไทยไม่รุนแรงเท่าจีน จะทำให้นักลงทุนเข้าไทยเพิ่มขึ้น
นางสาว สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. บอกว่า หากประเทศไทย ไม่ถูกยกระดับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากระดับ 2 สู่ระดับ 3 หรือ ระบาดรุนแรงเท่ากับประเทศจีน น่าจะทำให้บรรดานักลงทุนจากหลายประเทศ ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น อีกทั้งขณะนี้ ยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมปิดตัว จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ปิดตัวลง จากสาเหตุของการถูก Disruptive Technology เช่น กรณีเชฟโรเลต และประเมินว่า อาจจะมีอีกหลายบริษัทผลิตรถยนต์ ปรับสายการผลิตด้วย โดยมั่นใจว่า ความร่วมมือของทุกฝ่าย จะทำให้ไทย ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้
ผู้ว่าการ กนอ. ย้ำว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ประเทศไทย กระทบน้อยกว่า เพราะมีอากาศร้อน มองว่า ผลกระทบ จะอยู่ในช่วง 2-3 เดือนนี้ เมื่อถึงช่วงที่อากาศในไทยร้อนมาก ๆ สถานการณ์แพร่ระบาด จะหมดไปในที่สุด ขณะเดียวกัน กนอ.อยู่ระหว่างจัดทำประกาศให้ทุกนิคมอุตสาหกรรม ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ รู้จักดูแลตัวเองและระมัดระวัง ไม่ให้มีการแพร่เชื้อ ไปสู่บุคคลอื่น
นอกจากนี้ กนอ.อยู่ระหว่างสรุปยอดขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไตรมาสแรกปีงบ 2563 และเร่งประมวลเป้าหมายยอดขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งปกติแต่ละปี จะตั้งไว้ที่ 3,000 ไร่ แต่หลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ,ความผันผวนของค่าเงินบาท อาจส่งผลต่อเป้าหมายได้บ้างเล็กน้อย
ขณะเดียวกันวันนี้ (26ก.พ.)กนอ.ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เอเชีย คลีน ชลบุรี บนพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี มูลค่าลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมาย First S-Curve และ New S-Curve ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งอนาคต, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ,อุตสาหกรรมดิจิทัล ,อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีนชลบุรี เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีระบบสาธารณูปโภคทันสมัย มีพื้นที่สีเขียวสมดุล รวมทั้งมีพื้นที่สำรองน้ำขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทั้งนี้ โครงการจะเริ่มก่อสร้างปี 2563 และเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบปี 2564 ช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาทให้กับจังหวัดชลบุรี สร้างการจ้างงานและสร้างโอกาสพัฒนาแรงงานฝีมือ เพื่อรองรับความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีไม่น้อยกว่า 8,000 อัตรา เกิดการกระจายรายได้และพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกับชุมชุนอย่างยั่งยืน