xs
xsm
sm
md
lg

“ครูพจน์” หนุ่มพิการจิตอาสาสอนศิลปะ ปลุกผู้พิการลุกขึ้นสู้ อย่าคิดว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2562 พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ครูพจน์” หนุ่มพิการจิตอาสาสอนศิลปะ และผู้ก่อตั้งชมรมพัฒนาอาชีพคนพิการวังน้ำเขียว ซึ่งไม่เพียงฝึกอาชีพให้ผู้พิการ แต่ยังหวังให้ผู้พิการทุกคนเห็นคุณค่าและศักยภาพของตนเอง เพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข



คติพจน์ ฐิระฐิติ หรือที่หลายๆ คนเรียกเขาว่า “ครูพจน์” จิตอาสาสอนศิลปะ และผู้ก่อตั้งชมรมพัฒนาอาชีพคนพิการวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา แม้จะเป็นผู้พิการโปลิโอขาลีบตั้งแต่กำเนิด แต่ด้วยความชอบศิลปะเป็นทุนเดิม ซึ่งได้รับการปลูกฝังจากพ่อที่ศึกษาด้านศิลปะมา ทำให้เขาเลือกด้านเรียนศิลปะ นอกจากนี้ยังเรียนด้านอาชีพจาก กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) ใน อ.วังน้ำเขียว อีกด้วย

เริ่มให้ความรู้ด้านศิลปะเป็นวิทยาทาน

“เป็นวิทยากรให้คนพิการ แล้วคนก็รู้จักขึ้นเรื่อยๆ เราเลยก้าวข้ามขั้นไป เป็นวิทยากรประจำหมู่บ้าน คราวนี้ศูนย์เรียนรู้ที่ประจำหมู่บ้าน ที่มีแขกหรือนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม ก็จะมีผมไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์เรียนรู้ประจำหมู่บ้าน เป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาทานด้านศิลปะ คือเราไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้คิดค่าจ้าง อาศัยว่ามาขอไป เราก็ไป”

จากวิทยากรด้านศิลปะ ได้นำไปสู่การจับมือกับ กศน.วังน้ำเขียว ตั้งชมรมพัฒนาอาชีพคนพิการวังน้ำเขียว เพื่อให้คนพิการได้มีอาชีพ ซึ่งโชคดีมีผู้ใจบุญที่อยู่ใน กทม. อนุเคราะห์พื้นที่ให้ชมรมฯ ใช้ประโยชน์ ทั้งอยู่อาศัยและฝึกอาชีพ

“พื้นที่ตรงนี้ เราได้ความอนุเคราะห์จากคุณศักดา เขาเป็นเจ้าของที่อยู่ที่ กทม. พอดีรู้จัก มีคนแนะนำให้ เราเลยมาติดต่อ ตอนแรกเราคนเดียว ทำศิลปะ เลยบอกคุณศักดาไปว่า เราจะทำเป็นสมาคมคนพิการ ทำเกษตร เขายินดีเลย เขายินยอมให้เราใช้พื้นที่ เรามีน้ำใจแค่ตัดผลผลิตไปฝากเขา เขาก็ภูมิใจแล้ว เวลาไป กทม. (ถาม-ไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่ใช่ญาติ แต่เขาเห็นสิ่งที่ครูทำ เลยอยากสนับสนุน?) ผมทำจริง จากที่รกร้าง ไม่มีใครที่จะทำ คนขาดีเขายังถอย จะมาเช่าที่ปลูกข้าวโพด ยังต้องถอย จะมาปลูกองุ่น ก็ถอย ไม่สู้”

เดินหน้าฝึกอาขีพให้คนพิการ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของ “ในหลวง ร.9”

“พื้นที่ตรงนี้ราวๆ 25 ไร่ จะเน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 เป็นหลักเลยที่จะเอามาใช้ตรงนี้” ณกรณ์ พัฒนจารีต ครูผู้สอนคนพิการ กศน.วังน้ำเขียว

เราสอนกันเสมอ อยากให้ทุกคนรู้จักการอยู่กันแบบพอเพียง ไม่โลภ เหมือนเราเคยลำบากครั้งหนึ่ง แล้วพี่พจน์เข้าไปช่วยเหลือ ดึงขึ้นมา แต่พอดึงเขาขึ้นมา เขาต้องรู้จักความพอเพียง ไม่โลภ หยุดอยู่แค่ตรงนี้ มีอยู่แค่ตรงนี้พอ พอเราสบายแล้ว เราก็ช่วยคนอื่นต่อไป”

“(ถาม-พื้นที่เราแบ่งสัดส่วนทำอะไรบ้าง?) ทางนี้เป็นสวนเกษตรแบบผสม รวมทั้งเสาวรส กล้วย ตะไคร้ ข่า มะม่วง หลายอย่าง โซนด้านโน้นจะเป็นผักสลัดไร้สาร” ครูพจน์ หรือคติพจน์ ฐิระฐิติ ผู้ก่อตั้งชมรมพัฒนาอาชีพคนพิการวังน้ำเขียว

“มาดูเขา ตอนนั้นก็ยังป่ารกอยู่ เขาค่อนข้างอยู่ลำบาก ผมเลยคิดขึ้นว่า คนพิการเขาก็มีกันหลายคน ขายล็อตเตอรี่อย่างเดียว มันไม่พอที่เขาจะใช้จ่าย บางครั้งขายดี บางครั้งไม่ดี อาจจะติดลบบ้าง ได้บ้าง ลุงแกะเลยคิดว่า คนพิการน่าจะมาปลูกผักได้ ผักสลัด เลยลองปรึกษากันพอจะทำได้ไหม ทำได้ ลุงแกะเลยมาดำเนินงานให้เลย ผักที่ปลูกมีหลายชนิด”

“คนไหนทำได้ เราจะแยกให้เขาทำ อีกส่วนหนึ่งที่เดินไม่ได้ ก็ไปนั่งขาย (ถาม-ลุงแกะถือเป็นปราชญ์ชาวบ้าน มีฟาร์มผักของตัวเอง มาสู่การสอนผู้พิการ ตรงนี้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเขาไหม?) ไม่มี งานผมวางเป็นระบบเลย และเขาจะมีหัวหน้าทีม ประธานกลุ่มคือ อ.พจน์ เขาก็จะช่วยดูแล แต่เรื่องงาน เราจะเป็นคนวางให้ เรื่องการส่งตลาด เรื่องราคาสินค้า อีกส่วนคือ ถ้าเราวางงานในระบบเสร็จแล้ว ชาวบ้านอยู่ใกล้เคียง และไม่มีงานทำ สามารถมาทำงานที่นี่ได้” สายัณห์ ช่อเกษม (ลุงแกะ) ปราชญ์ชาวบ้านที่เข้ามาช่วยสอนและวางระบบเรื่องปลูกผัก-ขายผักอย่างครบวงจร

ที่นี่นอกจากปลูกพืชผักหลายชนิดแล้ว ยังมีการเลี้ยงสัตว์อีกด้วย ขณะที่สมาชิกของชมรมฯ ที่มาใช้ชีวิตร่วมกันที่นี่ ไม่ได้มีแค่ผู้พิการ แต่ยังมีจิตอาสาที่ศรัทธาในความตั้งใจของครูพจน์ที่ทำเพื่อผู้พิการมาร่วมสานอุดมการณ์เดียวกันด้วย

“รุ่งลาวัลย์ กาลิก” ผู้พิการไร้แขน เล่าว่า เมื่อก่อนจะไม่ค่อยกล้าออกนอกบ้าน เพราะเวลาถูกคนมอง ไม่รู้ว่าเขามองเราแบบไหน รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวประหลาด แต่พอได้มาใช้ชีวิตและฝึกอาชีพกับครูพจน์และครูทุกคนที่ชมรมฯ นี้ ชีวิตและความคิดเปลี่ยนไปมาก

“ทั้งครู ทั้งพี่พจน์ ทุกคนที่รู้จัก ที่นำพาเราออกมาจากโลกของคนพิการแคบๆ เขาให้โอกาสเรามาก จากที่เราไม่กล้าออกมา พี่พจน์ก็พาเราออกมา มาเป็นครูสอนนักเรียน จิตอาสาที่มาสอนเด็กวาดรูป ที่พี่พจน์เขาสอนเรามา เราก็ไปสอนต่อ (ถาม-ทำแบบนี้แล้ว ความคิดเราเปลี่ยนไหม?) เปลี่ยนมาก เรากล้าแสดงออกมากขึ้น โลกภายนอกยอมรับคนพิการมากขึ้น”

ขณะที่ “ราวิล สลุงอยู่” อดีตนักกีฬาพาราลิมปิก ยอมรับว่า เคยท้อ แต่กลับมาสู้อีกครั้ง เพราะได้กำลังใจจากพี่พจน์

“ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ มาอยู่กับพี่พจน์ พี่แกให้คติข้อคิดหลายๆ อย่าง ผมเคยท้อ ไม่สู้แล้ว พอมาฟังพี่พจน์บอกให้สู้ พยายามทำ ถ้าเราไม่สู้ มันก็ไม่ได้ ให้สู้ต่อไป มันก็จะมีกำลังใจขึ้น ก็จริงอย่างที่แกบอก (ถาม-อยู่ที่นี่ สิ่งที่ประทับใจคืออะไร?) หลายๆ อย่าง น้ำใจ ความสามัคคี และพี่พจน์แกรักทุกคน มีอะไรปรึกษาหารือกันได้”

“คนพิการ ก่อนที่จะเข้ามาที่ชมรมฯ นี้ บางคนก็อยู่ในสภาพไม่พร้อมที่จะทำอะไรเลย พอมาอยู่ตรงนี้ มาเห็นการทำงานของเพื่อนร่วมงาน เขาสามารถดึงอะไรหลายๆ อย่างที่ดีๆ ไปใช้ และให้เกิดประโยชน์กับตัวเขาเอง คุณภาพจิตใจ หรือร่างกาย ก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ อยู่ที่นี่ไม่ว่าร่างกายดีหรือไม่ดี พออยู่ตรงนี้ อยู่ด้วยความรักความสามัคคี ความมีน้ำใจต่อกัน มันจะค่อยๆ สร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเขาเอง มันก็จะช่วยให้ทุกอย่างที่ไม่ดีของเขา มันดีขึ้นได้” ณกรณ์ พัฒนจารีต ครูผู้สอนคนพิการ กศน.วังน้ำเขียว

ครูพจน์ ฝากถึงผู้พิการ

คนพิการทั่วไปที่ติดเตียงหรืออยู่ที่บ้าน ไม่เคยออกมาทำอะไรเลย เราอย่าคิดว่าเราทำไม่ได้ ทำก่อน แล้วค่อยพูดว่าทำไม่ได้ อยากให้ทุกคนลุกขึ้นจากเตียงมา เรายินดี มาศึกษาที่เราได้ มาลองทำดูที่เรา เรายินดีเลี้ยงข้าว มีหมด ไม่ต้องห่วง อยากให้เขาลุกขึ้นสู้ พอเขาสู้เป็นแล้ว ค่อยออกไปอยู่สังคมหรือกลับไปอยู่บ้าน”

นอกจากดูแลและพัฒนาอาชีพให้ผู้พิการในชมรมพัฒนาอาชีพคนพิการวังน้ำเขียวแล้ว ช่วงเย็นของแต่ละวัน ครูพจน์ คติพจน์ ฐิระฐิติ ยังทำหน้าที่ครูสอนศิลปะให้เด็กๆ ที่ผู้ปกครองพามาเรียนวาดรูป โดยไม่คิดค่าสอนหรือค่าอุปกรณ์แต่อย่างใด

ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

รับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos

กำลังโหลดความคิดเห็น