รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2562 พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ครูน้ำฝน” ครูที่แม้ฐานะยากจนและตามองไม่เห็น แต่เดินถึงฝันในการเป็น “แม่พิมพ์ของชาติ” ได้สำเร็จ ครูน้ำฝนไม่เพียงเป็นครูที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย-แต่งกลอน แต่ยังเป็นครูที่กตัญญู-มีน้ำใจและมีแต่ให้อีกด้วย
น้ำฝน บัวหิรัญ แม้ความยากจนจะทำให้เธอตาบอดตั้งแต่เด็ก แต่เธอก็มุมานะพยายาม จนเดินถึงฝันในการเป็น “ครูสอนภาษาไทย” ได้สำเร็จ
“เราเกิดมา พ่อบอก เราก็มองไม่เห็นแล้ว ไปรักษาที่ รพ.เด็กราชวิถี พอรักษา กลับมามองเห็นปกติ ตอนนั้นเห็นมากพอสมควร ก็ไม่ได้รักษาต่อ คิดว่า ไม่น่าจำเป็น และด้วยเงิน รายได้ด้วย พ่อเลยไม่ได้รักษาต่อ พอโตมาก็เรียนกับเพื่อนปกติ ใช้ชีวิตปกติ อ่านเขียนหนังสือปกติ แต่เราก็ยังไม่รู้ตัวว่า เรามองเห็นใกล้ๆ ชอบอ่านหนังสือใกล้ๆ ทำอะไรใกล้ๆ กระทั่งอายุ 10 ขวบ อยู่ ป.4 ก็มองไม่เห็นข้างหนึ่งก่อน ข้างซ้าย พอมองไม่เห็น เราก็ยังไม่รู้ตัวเอง กระทั่งเดินชนโน่นนี่ แม่สังเกต เลยพาไปตัดแว่น พาไปหาหมอ หมอก็ยังไม่รู้ว่า เป็นอะไร กระทั่งกลับไป รพ.เด็กราชวิถี หมอบอกว่าเราเป็นต้อหิน เราไม่ได้รักษาต่อเนื่อง เราเลยมองไม่เห็นไปแล้ว 1 ข้าง อีกข้างหนึ่งควรรักษาต่อ แม่เลยพารักษาต่อ แต่ขณะนั้นพ่อกับแม่ก็แยกทางกัน แม่เลยพาไปรักษาเรื่อยๆ แต่ด้วยเงิน ด้วยรายได้ ก็เลยรักษาไม่ต่อเนื่อง ตาก็เลยมองไม่เห็น ตาบอดทั้ง 2 ข้างเลย”
การมองไม่เห็น ไม่เพียงทำให้ครูน้ำฝนเสียใจ แต่ยังดับฝันความอยากเป็น “จิตรกร” ของเธอด้วย ไม่เท่านั้น ยังอาจมีส่วนทำให้แม่ของเธอป่วยด้วยโรคจิตเวชตามมา โชคดีที่พ่อยังดูแลน้ำฝนและน้องอีก 2 คนอยู่ แม้จะต้องเลี้ยงลูกด้วยฐานะที่ยากลำบากก็ตาม
แม้ยากจน แต่ครูน้ำฝนเรียนดี แถมยังมีความสามารถด้านแต่งกลอน โดยเฉพาะกลอนสด ที่ต้องแต่งภายในเวลาจำกัดแค่ไม่กี่นาที
“เหมือนเขามีอยู่ในจิตวิญญาณ ตอน ม.1 พอครูเห็นแววตั้งแต่ตอนไปแข่งขัน ครูก็ส่งเสริมเขา ตอนที่เขาเฟื่องฟูมากๆ ตอน ม.2 แข่งขันศิลปหัตถกรรม ระดับโรงเรียน ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศ เขาได้ทั้งหมด ครูพาไป มีเล่านิทาน แต่งกลอน พูด ประชันกลอนสด ทุกอย่างที่เกี่ยวกับภาษาไทย ฝนแข่งหมด ตอนจบ ม.3 เขาได้ทั้งหมด 7 รางวัล ที่ 1 นะ ระดับประเทศเลย” สมทรง กีรติมาพงศ์ อดีตครูโรงเรียนพระนารายณ์ จ.ลพบุรี ที่รักและคอยช่วยเหลือครูน้ำฝนทุกอย่างเปรียบเหมือนแม่บุญธรรมของครูน้ำฝน
นอกจากมุมานะร่ำเรียน ครูน้ำฝนยังพยายามใช้ความสามารถที่มี หารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวและส่งเสียน้องเรียนด้วย
“สมัยเขาอยู่โรงเรียนพระนารายณ์ก็เขียนกลอนเขียนอะไร ได้เงินมาก็ส่งน้องบ้าง ทุกวันนี้เขาก็ส่งอยู่ เขารักกันดี (ถาม-ครูไม่เคยทิ้งครอบครัว?) ไม่ทิ้ง นี่เขาก็ส่งให้พ่อ ส่งให้ผม ส่งให้เดือนละ 5,000 และส่งให้น้องด้วย” น้อย บัวหิรัญ บิดาครูน้ำฝน
“ใครว่าจ้างให้ทำอะไร ถ่ายเทป ถอดเทป ทำหมด อันไหนที่เป็นตังค์ ทำหมด เขาก็ไม่อยากให้ใครมาลำบากเพราะเขา” สมทรง กีรติมาพงศ์ อดีตครูโรงเรียนพระนารายณ์ จ.ลพบุรี
ด้วยความที่อยากเป็น “ครูสอนภาษาไทย” ครูน้ำฝนจึงยอมสละมหาวิทยาลัยชื่อดัง เพื่อเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏ
“เราตั้งใจมาตั้งแต่สมัยประถมเลยว่าเราจะเป็นครู (ถาม-ต้องเป็นภาษาไทย?) เราชอบภาษาไทย ขนาดเราสอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดัง ในเอกอื่น เรายังสละเพื่อมาอยู่ราชภัฎเลย จะเอาครูภาษาไทย (ถาม-ทำไมต้องเป็นภาษาไทย?) ภาษาไทยไม่ใช่แค่ภาษาไทยนะ เก่านะ เป็นตำนาน เรื่องเล่า วรรณคดี ไม่ใช่แค่นั้น แต่ภาษาไทย เวลาเราเอามาเขียน ร้อยเรียงเป็นเรื่องสั้น เป็นกลอน บทกวี มันจะมีศิลปในตัวมัน จะมีความลึกซึ้ง มีคุณค่า มีจิตวิญญาณของมัน ซึ่งเราสัมผัสได้ตั้งแต่เด็ก และเราก็รักมันมากๆ”
ด้วยความมุ่งมั่นและพากเพียร ในที่สุด ครูน้ำฝนก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด พร้อมเกียรตินิยมอันดับ 1 ทั้งยังได้รับรางวัลพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9 อีกด้วย
“ผลการเรียนได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เกรดเฉลี่ย 3.62 รางวัลที่ได้รับในระดับปริญญาตรี รางวัลนักศึกษา รางวัลพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (ถาม-เป็นทุนพระราชทานมอบในโอกาสอะไร?) ในโอกาสที่ เขาจะดูผลงานของนักศึกษาว่า นักศึกษาคนไหนเรียนดี เก่งอย่างเดียวไม่ได้ เรียนดี จะต้องมีจิตอาสา ต้องมีการร่วมกิจกรรม กับคนอื่น (ถาม-แสดงว่างานจิตอาสา ครูก็ทำ?) ใช่ (ถาม-ทำอะไรบ้าง?) งานหลักของมหาวิทยาลัยคือ ชมรมแทนดวงตา เป็นชมรมที่เราชักชวนเพื่อนสนิทที่เป็นเพื่อนสายตาปกติจำนวน 10 กว่าคนเข้ามา เพื่อทำกิจกรรมให้น้องๆ ผู้พิการคนอื่นๆ”
การได้ทุนพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่เพียงยังความปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แต่ครูน้ำฝนยังตระหนักด้วยว่า เธอต้องทำอะไรเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินให้มากๆ นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมเธอจึงเลือกมาเป็นครูที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 46 จ.ชัยนาท โรงเรียนของในหลวง รัชกาลที่ 9
“มีคนถามว่า ทำไมเราไม่ไปเป็นครูโรงเรียนคนพิการเลย เราก็คิดในใจ เรามาเจอโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ตอนนั้นเราคิดเลยว่า โรงเรียนแบบนี้ ย่อมต้องการอะไรอีกมาก เพราะเด็กที่อยู่โรงเรียนนี้จะเป็นเด็กชนกลุ่มน้อยพวกม้งจากจังหวัดต่างๆ เด็กที่ยากจนมากๆ อาจเป็นเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางประเวณีมาแล้วต้องย้ายมาอยู่ที่นี่ เราคิด ถ้า(ครู)ทุกคนก็อยากไปอยู่ที่ดีๆ แล้วเด็กพวกนี้จะมีใครสนใจเขาบ้าง”
ขณะที่เด็กนักเรียนยอมรับว่า ตอนแรกกลัวครูน้ำฝนจะสอนไม่ได้ แต่พอได้สอน รู้สึกสุดยอด ประทับใจมาก
“(ถาม-เล่าความรู้สึกแรกที่เจอครูน้ำฝน?) คิดว่าครูอาจจะสอนไม่ได้ เพราะเขาพิการทางสายตา พอมารู้อีกทีว่าเขาเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็รู้สึกว่าเขาสุดยอดแล้ว (ถาม-จากการที่เราได้เข้าเรียนกับครูน้ำฝนเป็นอย่างไรบ้าง?) สนุกสนาน) ประทับใจที่เขาเก่ง มีความสามารถ เก่งด้านการสอน สามารถจำชื่อพวกผมได้” ด.ช.รชต วงศ์สรร นักเรียนชั้น ม.1/1 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 46 จ.ชัยนาท
“ครูน้ำฝนสอนดี และใจดีด้วย ตอนแรกก็สงสัยว่า ครูจะสอนเราได้ไหม กลัวเขาสอนเราไม่ได้ และกลัวเด็กในห้องจะไม่ฟังเขาด้วย พอครูเริ่มสอน ก็รู้สึกสุดยอด เพราะหนูทำไม่ได้อย่างเขา บางอย่าง เช่น พิมพ์คีย์บอร์ด บางทีคนตาดี ยังจำไม่ได้เลยว่าตัวไหนเป็นตัวไหนบ้าง แต่ครูจำได้หมดเลย ชอบครู เพราะครูเขาเก่ง และมีความสามารถที่สุดยอด ครูเขาสอนดี และอธิบายให้เด็กเข้าใจง่าย” ด.ญ.นันธิดา คำสี นักเรียนชั้น ม.1/1 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 46 จ.ชัยนาท
ครูน้ำฝนประทับใจ วันครูที่ผ่านมา เด็กนักเรียนนำพวงมาลัยมากราบถึงบ้านพักครู
“เด็กที่นี่มีน้ำใจมากๆ นะ เราไปทางไหน เขาก็จะเข้ามาช่วยเรา เรามองไม่เห็น เขาก็เข้ามานำทางเราเดิน วันครูที่ผ่านมา ซึ้งมากๆ วันพฤหัสฯ ที่ 13 เขามีการไหว้ครูรวมในหอประชุม เขาก็มาไหว้ปกติ ก็มีเด็กหลายคนร้อยพวงมาลัยต่างหาก เขามากราบเราจนถึงบ้านนะ ตอนนั้นเรารู้เลยว่า คำว่าครูมันยิ่งใหญ่ขนาดไหน เราน้ำตาซึมมากเลย เรามองไม่เห็น เขาก็ยังเทิดทูนเรา กราบที่ตักเราเกือบทุกคน”
สำหรับอนาคต ครูน้ำฝนตั้งเป้าว่า อยากศึกษาต่อปริญญาโท อยากพูดให้แรงบันดาลใจเด็กๆ ให้หลากหลายกลุ่มขึ้น รวมทั้งอยากมีรวมผลงานงานเขียนของตนเองให้มากขึ้น ไม่ใช่เพราะต้องการชื่อเสียง แต่เพื่อเป็นแรงจูงใจและเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ เห็นว่า แม้ครูตามองไม่เห็น ยังทำได้ เด็กซึ่งตามองเห็น ก็ต้องทำได้เช่นกัน
ครูน้ำฝน ...ครูผู้มีแต่ “ให้”
“เขาช่วยเหลือคนอื่นทุกคน คนปกติ คนตาดี เรื่องทำแผนการสอน คนอื่นก็มาดู ทำแผนอย่างไร เราคิด แกปกตินะ แกยังมาดูฝนอีก ฝนทำทุกอย่าง สอนเด็ก ให้ทำคะแนนเด็ก ทำหมดทุกอย่าง เป็นตัวอย่างได้เลย ความพยายามของเขา เขาทำด้วยตัวเขาเอง เขาไม่ได้ไปคัดลอกอะไรใครมา มีแต่คนอื่นมาลอกเขาไป เขาใจดี เขาให้โดยไม่รู้ว่าคนนั้น เอาของฝนไป ฝนถ้าเขาเอาของหนูไป แล้วเขาบอกหนูเอาของเขามา จะทำไงเนี่ย แผนการสอนอะ ฝนก็ ใครอยากเอาไปก็เอาไป ช่วยเขา ฝนก็อย่างนี้ อะไรก็ให้เขา พี่น้องพ่อแม่ให้เขาหมด มีแต่ให้ ตัวเองไม่เอาอะไร เวลาไปกินไปเที่ยว ไม่ไป ใช้จ่าย ไม่ใช้ อันนี้ไว้ให้น้อง อันนี้ไว้ให้แม่ อะไรอย่างนี้” สมทรง กีรติมาพงศ์ อดีตครูโรงเรียนพระนารายณ์ จ.ลพบุรี การันตีความมีน้ำใจของครูน้ำฝน
“ที่เราทำเพื่อคนอื่น เรานึกถึงตัวเรา ก็เราไม่มี เราก็อยากให้คนอื่นเขามี อยากให้คนอื่นเขาได้รับโอกาส ถ้าเขาได้รับโอกาส เขาอาจจะได้ดีขึ้นและพัฒนาตัวเองขึ้น (ถาม-สิ่งที่ครูได้กลับมาคืออะไร?) ความสุข รอยยิ้ม ไม่เคยไม่ยิ้มเลย” ครูน้ำฝนกล่าวพร้อมหัวเราะอย่างมีความสุข
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
รับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos