xs
xsm
sm
md
lg

เก่งเกินวัย! “น้องการ์ตูน-น้องเฟียส” เล่นลิเกหาเลี้ยงครอบครัว-สืบสานวัฒนธรรมไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2562 พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “น้องการ์ตูนและน้องเฟียส” เด็ก 2 คนจากต่างครอบครัว ซึ่งนอกจากจะฐานะยากจนและประสบปัญหาพ่อแม่แยกทางกันแล้ว ทั้งคู่ยังทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัวด้วยการเล่นลิเกอีกด้วย



ด.ญ.คัทริยา เครือทะวงค์ หรือน้องการ์ตูน อายุ 9 ขวบ และ ด.ญ.กุลนันท์ ศรีล้อม หรือน้องเฟียส อายุ 13 ปี มีความเหมือนกันหลายอย่าง ทั้งครอบครัวฐานะยากจน ประสบปัญหาพ่อแม่แยกทางกัน และทั้งคู่ต่างทำงานหาเงินเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัวด้วยการเล่นลิเกเหมือนกัน

น้องการ์ตูนเรียนอยู่ชั้น ป.4 โรงเรียนสันป่าตองสุวรรณราชวิทยาคาร ปัจจุบันอาศัยอยู่กับย่าบุญธรรม ส่วนน้องเฟียสใช้ชีวิตอยู่กับพ่อ หลังพ่อแม่แยกทางกัน

คณะลิเกเห็นแวว “น้องการ์ตูน” น่าเล่นลิเกได้

“แม่ขายของที่โรงเรียนที่น้องเรียน พอดีโรงเรียนมีงานประจำปี ก็เห็นว่าน้องเก่ง กล้าแสดงออก ร้องเพลงได้ ตอนเย็นๆ เจอกัน ก็คุยว่า น้องการ์ตูนไปเล่นลิเกไหม เผื่อน้องจะมีรายได้ น้องก็ไปปรึกษาย่า ย่าก็พามาที่บ้าน น้องลองร้องเพลง ซอพื้นเมือง น้องก็ทำได้ ก็บอกว่า ตอนโรงเรียนปิดเทอม เรามาเล่นลิเกด้วยกัน” มาลี ชมภูศรี เจ้าของคณะลิเก ส.สันคะยอม 2

“น้องเฟียส” ซึมซับพ่อแม่เล่นลิเก จึงเจริญรอยตาม

“พ่อกับแม่เล่นตั้งแต่หนูยังไม่เกิด ก็เลยสืบสานต่อจากพ่อแม่ อยากเล่นลิเกตั้งแต่อยู่อนุบาล 2-3 แล้ว เพราะเห็นพ่อแม่เล่น ดูมีความสุข ดูมีชีวิตชีวา เลยอยากเล่น (ถาม-การเล่นลิเกช่วยอะไรหนูบ้าง?) ช่วยดำรงชีวิตและช่วยหาเงินส่งตัวเองเรียน หาเงินเป็นค่ายาให้พ่อได้บ้าง”

“น้องการ์ตูน” เล่นลิเก เพราะอยากมีเงินรักษาย่า

ถาม-ทำไมน้องออกไปทำงานนอกบ้านตั้งแต่อายุแค่นี้?) ไม่อยากให้ย่าเหนื่อย (ถาม-ย่าทำงานอะไร?) ย่าทำงานรับจ้างปอกหอม และรับจ้างดูแลเด็ก (ถาม-เห็นบอกว่าย่าป่วย เป็นอะไร?) ย่าเป็นเบาหวาน ความดัน และข้อเข่าเสื่อม (ถาม-ทำไมต้องออกไปทำงานช่วยย่า?) อยากมีเงินให้ย่าไปรักษา ไปหาหมอ”

ย่าบุญธรรมสงสารหลาน ต้องเล่นลิเกหาเงินตั้งแต่เด็ก

“(ถาม-แต่ละวันย่าทำอะไรบ้าง?) ถ้าหน้าหอม ย่าก็ไปปอกหอมหัวใหญ่ หน้าหอมมีประมาณ 4 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. (ถาม-รายได้การปอกหอมเป็นอย่างไร?) รับจ้างเหมา กิโลละ 1 บาท เพราะย่าทำรายวันไม่ค่อยไหว เพราะไม่ค่อยสบาย เป็นเบาหวาน ความดัน ข้อเข่าเสื่อม (ถาม-การ์ตูนเป็นเด็กนิสัยอย่างไรบ้าง?) น้องเป็นคนร่าเริง แต่มีอาการซึมเศร้าเป็นบางครั้ง (ถาม-ทำไมคิดว่าหลานมีอาการซึมเศร้า?) เพราะบางทีถ้าพ่อเขาโทรมา บอกว่า พ่อจะเข้ามาหานะ แต่พ่อไม่มา เขาจะนั่งรอกอดตุ๊กตาเก่าๆ ของเขา นั่งรอพ่อจนมืดค่ำ ยายบอกให้เข้าบ้านก็ไม่เข้า (ถาม-รายได้จากการรับจ้างพอใช้สำหรับ 2 คนไหม?) ไม่พอ ต้องประหยัดกันสุดๆ เลย (ถาม-เคยแย่มากๆ หรืออดเลย มีไหม?) มีเป็นบางครั้ง แต่จะยอมอดมากกว่า เพื่อให้น้องได้กิน บางครั้ง ถ้าย่าจนปัญญาจริงๆ จะไปขอข้าววัดกิน (ถาม-ย่ารู้สึกอย่างไรที่น้องวัยแค่นี้ต้องออกไปทำงาน เอาเงินมาเลี้ยงครอบครัว และดูแลย่าที่ป่วยอีก?) บางครั้งถ้าย่านอนไม่หลับ แต่น้องหลับไปแล้ว ย่าได้แต่มอง สงสาร” พิมพ์พันธ์ สิทธิมูล ย่าบุญธรรมน้องการ์ตูน

“น้องการ์ตูน” อยากให้ย่าอยู่ด้วยนานๆ

“(ถาม-ส่วนใหญ่ไปเล่นลิเกกลางวันหรือกลางคืน?) ทั้งสองเวลา (ถาม-รายได้แต่ละครั้งเท่าไหร่?) 150 ถึง 200 ถ้ามี 2 เวลา ก็ได้ 300 (ถาม-คุ้มไหม?) คุ้ม (ถาม-ได้เงิน 300 เอามาทำอะไรบ้าง?) เก็บไว้ในกระปุกออมสินไว้เป็นทุนการศึกษา (ถาม-ค่าใช้จ่ายในบ้าน หนูต้องจ่ายอะไรบ้างหรือเอาเงินให้ยาย?) ค่าใช้จ่ายในบ้าน ยายบอก วันนี้ค่าไฟมา น้องตูน ยายขอยืมเงิน 100 นะ (ถาม-ให้ยืมด้วย?) ให้ยืม (ถาม-แล้วต้องคืนไหม?) ไม่ต้องคืน (อย่างนั้นเรียกว่าให้เลย ไม่ได้ให้ยืมแล้ว)(ถาม-หนูมองอนาคตของตัวเองไว้อย่างไรบ้าง?) หนูต้องรักษาย่าให้หาย ย่าต้องได้อยู่กับหนูนานๆ”

“น้องการ์ตูน” ยืนยัน เล่นลิเกไม่ยาก

“(ถาม-ทุกวันนี้ หนูต้องร้องด้วย ใครสอนร้อง?) ลุงเสริม พ่อของพี่เฟียสเป็นคนสอน (ถาม-แล้วต้องเรียนรำไทยไหม?) ไม่ต้องเรียน ดูจากพี่ๆ ก็ได้ (ถาม-ใช้เวลาฝึกร้องนานแค่ไหน?) ให้เขาร้องและอัดใส่มือถือ แล้วเราก็มาร้องเอง (ถาม-มันยากไหม?) ไม่ยาก เราต้องฟังดนตรีลิเกให้ออก (ถาม-แสดงเป็นตัวไหนหรือรับบทอย่างไรบ้าง?) อยากเป็นตัวตลก (ถาม-ไม่อยากเป็นนางเอกหรือนางร้ายเหรอ?) ไม่อยากเป็น เพราะตัวตลกได้เงินเยอะกว่า (ถาม-ถ้าวันหนึ่งไม่มีคนจ้างเล่นลิเก จะทำอะไร?) ก็ไปร้องซอ”

“น้องเฟียส” เผยเทคนิคเล่นลิเก

“หนูเล่นครั้งแรกประมาณ 4 ขวบ ตอนนั้นเริ่มแสดงเป็นพระเอกตัวเด็ก เป็นลูก เป็นเด็กผู้ชาย ค่อยๆ ฝึกไป ตอนแรกให้เขาสอนอยู่ข้างฉาก ให้เขาบอกชื่อบอกอะไร คอยบอกบท พอผ่านไปนานๆ ก็ฝึกเอง จำเอง กลอนอะไร เราก็ต้องฝึกเอง ร้องเองหมดเลย (ถาม-มีเทคนิคอย่างไร?) บางครั้งก็ดูผู้ใหญ่เล่น และอินไปตามบท น้ำตาก็ไหลบ้าง บางครั้งก็คิดว่าพ่อเสียชีวิตบ้าง อยู่ดีๆ น้ำตาก็ไหลมาเอง นอกจากคิดว่าพ่อเสียชีวิต ก็มีคิดเรื่องพ่อแม่แยกทางกัน ถ้าแยกทางตอนเด็ก เราคงไม่รู้สึกอะไร แต่พอแยกทางตอนโต จะเจ็บมากกว่าตอนเด็ก (ถาม-ตอนนี้ทำใจได้หรือยัง?) ทำใจได้แล้ว”

น้องเฟียสยอมรับว่า การเล่นลิเก ทำให้ต้องขาดเรียนบ้าง ส่งผลให้เรียนไม่ทันเพื่อน และทำให้ผลการเรียนที่ออกมาไม่ดีนัก พร้อมมองว่า อาชีพลิเกมีความไม่แน่นอน อาจต้องหาอาชีพเสริม

“(ถาม-คิดว่าอาชีพลิเกจะเลี้ยงเราได้นานแค่ไหน?) ไม่แน่นอน ก็ต้องหาอาชีพเสริมทำบ้าง (ถาม-มองอนาคตตตัวเองอย่างไร อยากเรียนถึงขั้นไหน?) ยังไมได้คาดหวังเลย เพราะเราต้องดูเรื่องรายจ่ายของครอบครัวด้วย (ถาม-เคยฝันไหม โตขึ้นอยากเป็นอะไร นอกเหนือจากการเป็นนักแสดงลิเก?) มี อยากเป็นนักร้อง ชอบร้องเพลง”

ด้านคุณพ่อของน้องเฟียส ยอมรับว่า ชีวิตลิเกทุกวันนี้ลำบาก เพราะมีทั้งคนชื่นชอบและไม่ชอบ

“คนชอบก็บอกว่า เราแสดงได้ดี เราพอเลี้ยงตัวได้ แต่คนที่ไม่ชอบจะบอกว่า เต้นกินรำกิน มันไม่เจริญหรอก ได้ยินบ่อยมาก บางทีไปเล่นบางวัด น้ำตาร่วงเลย เขาบอก พวกเต้นกินรำกิน มันคบไม่ได้หรอก (ถาม-ตอนนั้นพ่อรู้สึกอย่างไร?) บางครั้งก็ท้อ เราเป็นศิลปิน เราก็ท้อ แต่คิดอีกที คนที่พูด มันยังทำไม่ได้เลย ถ้ามันทำได้อย่างเรา เราค่อยแก้ไขตัวเราเอง” ส่งเสริม สุกร คุณพ่อน้องเฟียส

“น้องเฟียส” เลิกท้อกับคำดูถูก ขอเดินหน้าสืบสานวัฒนธรรมไทย

“(ถาม-หนูรู้ไหม เคยมีคนดูถูกคุณพ่อเหมือนกัน?) เคยได้ยิน (ถาม-รู้สึกอย่างไรบ้าง?) เราก็ท้อบ้าง เพราะเราก็ไม่เคยโกงเขา แต่ทำไมเขาต้องมาว่าให้เรา (ถามเคยท้อจนอยากเลิกเลยไหม?) เคยมี แต่ผลสุดท้ายก็คิดว่า เราต้องสืบสานวัฒนธรรมต่อไป เพราะถ้าเราไม่ทำสิ่งนี้ แล้วจะมีเด็กรุ่นไหนมาสืบสานวัฒนธรรมไทย”

หากท่านใดต้องการสนับสนุนทุนการศึกษาหรือปัจจัยในการดำรงชีวิตของน้องการ์ตูนสามารถโอนเงินไปได้ที่ ธนาคารออมสิน สาขาแม่วาง ชื่อบัญชี น.ส.พิมพันธ์ สิทธิมูล เพื่อผู้เยาว์ ด.ญ.คัทริยา เครือทะวงค์ เลขที่บัญชี 0-2012086-112-3

หากท่านใดต้องการสนับสนุนทุนการศึกษาหรือปัจจัยในการดำรงชีวิตของน้องเฟียส สามารถโอนเงินไปได้ที่ ธนาคารออมสิน ชื่อบัญชี ด.ญ.กุลนันท์ ศรีล้อม เลขที่บัญชี 0-2028897-087-2

ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

รับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos




กำลังโหลดความคิดเห็น