xs
xsm
sm
md
lg

ลึกทันใจ : ชี้ทางออก win win ปัญหา "เหมืองทองอัคราฯ"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน ชี้ทางออก win win ปัญหา "เหมืองทองอัคราฯ" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2562



เรื่องของเหมืองทองอัครา' เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจับตาดูว่ารัฐบาลไทยจะต้องเสียค่าโง่ 30,000 ล้านบาทอีกหรือไม่? จากการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 สั่งระงับการประกอบกิจการเหมืองทองคำชาตรีที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการผลิต การต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ การสำรวจ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือประทานบัตรเหมือนแร่ทองคำ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา

เหตุที่รัฐบาลต้องตัดสินใจเช่นนั้นก็เพราะว่าเหมืองทองอัครา ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น จนต่อมากลายเป็นข้อพิพาทเมื่อบริษัท คิงส์เกตฯ ได้ใช้สิทธิ์ทาฟตา (TAFTA: ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย) นำเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการโลกตัดสิน พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายให้บริษัทเป็นจำนวนเงินประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท

เรื่องนี้นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร.เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทอยู่ระหว่างการต่อสู้ในขั้นอนุญาโตตุลาการ คาดว่าจะรู้ผลการพิจารณาภายใน 2 ปี และระหว่างนี้ยังมีสิทธิ์ที่จะเจรจาเพื่อหาทางออกหรือข้อสรุปได้

ตามข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบพื้นที่เหมืองทองของคณะกรรมการร่วม 4 กระทรวงประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าการดำเนินการของเหมืองทองอัครา มีจุดที่เกิดการรั่วไหลของสารเคมีที่ใช้ในการผลิต และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทอัครา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าบริษัท อัคราฯ ไม่ได้ดำเนินการใดๆ และยังได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์คำสั่งไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม โดยให้เหตุผลว่า สิ่งที่บริษัทได้รับมา ไม่ใช่เป็นข้อสรุปของคณะทำงาน 4 กระทรวง แต่เป็นข้อสั่งการที่มาพร้อมเงื่อนไขแนบท้าย ซึ่งจะต้องใช้งบฟื้นฟูและปรับปรุงหลายสิบล้านบาท ซึ่งทางผู้บริหารเหมืองยังสงสัยว่า หากได้แก้ไขแล้วเหมืองจะได้กลับมาเปิดจริงหรือไม่?

และสิ่งสำคัญอีกประเด็นคือ เรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมมี 17 รายที่ป่วยก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเหมืองเป็นต้นเหตุที่แท้จริงหรือไม่ แต่เมื่อเหมืองถูกสั่งปิด คนงานที่เคยทำงานพันกว่าคนก็ต้องถูกออกจากงาน และเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐมาเก็บข้อมูลและเข้าไปสอบถามประชาชนที่นั่นถึงผลกระทบของการปิดเหมือง ปรากฎว่าชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเศรษฐกิจแย่มาก ไม่มีรายได้ อยากให้เหมืองกลับมาเปิดอีก ดังนั้นทางออกในเรื่องนี้คือ หากฝ่ายรัฐบาลมีคำสั่งที่ชัดเจนว่าจะให้เหมืองทำอะไรบ้าง แล้วเหมืองก็ทำตามนั้น เมื่อหมดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว เหมืองก็ดำเนินการต่อ ชาวบ้านก็มีงานทำ ถือว่า Win Win กันทุกฝ่าย

ทีมข่าวลึกทันใจ รายงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น