รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ เสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2562 พาคุณผู้ชมไปพบกับเรื่องราวของ “พลอย” สาวตาบอด แต่ความสามารถรอบด้าน ทั้งการเรียน-งานเขียน-ดนตรี-กีฬา อะไรทำให้เธอประสบความสำเร็จแทบทุกด้านขนาดนี้
สโรชา กิตติสิริพันธุ์ หรือพลอย อาจโชคไม่ดีที่สูญเสียการมองเห็นตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเป็นมะเร็งที่จอประสาทตา แต่เธอโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่ให้ความรักความอบอุ่นและพร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้เธอได้ทำในสิ่งที่เธอชอบ เธอรัก กระทั่งทำให้เธอมีความสามารถในหลากหลายด้าน และประสบความสำเร็จในเส้นทางที่เธอเลือกเดิน
หลังเรียนจบจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ พลอยเรียนต่อระดับมัธยมฯ ที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ โดยมีความสามารถด้านดนตรีติดตัวมาด้วยจากความสนใจและได้เรียนพิเศษ ก่อนสอบชิงทุนเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำเร็จเป็น 1 ใน 15 ที่ทางมหาวิทยาลัยให้ทุน
ชอบ “ภาษาและวรรณคดีไทย” เป็นชีวิตจิตใจ
“ตอนนั้นพลอยเรียนเอกภาษาและวรรณคดีไทย (ถาม-ทำไมเลือกเรียนเอกนี้?) พลอยอ่านหนังสือเยอะ พอดีมีคนอ่านหนังสือให้เราฟังเยอะ พ่อ พี่ อาเจ็ก อ่าน เราเลยได้มีโอกาสอ่านหนังสือหลากหลายแนว เราเห็นว่าในหนังสือมันมีจินตนาการ อ่านแล้วมันหัวเราะได้ มันร้องไห้ได้ ตัวหนังสือมันเป็นอย่างนั้น มันมีความรู้อยู่ข้างใน มันมีภาพบางอย่างที่เราไม่สามารถเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เพราะเรามองไม่เห็น เช่น การยักไหล่ การพยักหน้า เวลาเราอยู่ในชีวิตประจำวัน เราไม่เห็นว่าเขาทำกิริยาอะไร แล้วมันหมายความว่าอย่างไร แต่เวลาเราอ่านหนังสือ คนเขียนเขาจะสื่อสิ่งเหล่านี้ด้วยภาษา เลยทำให้เราเริ่มเห็นเวลาเขามองค้อน แปลว่าเขาเริ่มงอนแล้ว ไม่พอใจ”
“เราเริ่มจินตนาการท่าทางของคน พอเกิดขึ้นบ่อยๆ เริ่มรู้สึกว่าหนังสือมันสนุก ตอน ม.ปลาย พลอยชอบอ่านวรรณคดี สนใจมาก คำฉันท์ คำประพันธ์แปลกๆ ก่อนหน้านั้นอ่านแต่กลอน พอ ม.ปลายเริ่มเจอคำฉันท์ เจอโคลง เรารู้สึกว่า เสียงที่คล้องจองกัน มันน่าฟัง ความหมายมันตีได้กว้างกว่าที่เราพูดกันปกติ เลยเริ่มสนใจวรรณคดีเยอะขึ้น และอยากเรียนต่อด้านนี้ อยากเขียนถ่ายทอดความคิดของเรา เรียนอะไรก็ได้ที่ได้อ่านหนังสือวรรณกรรมเยอะๆ”
มีรางวัลการันตี “พลอย” มีฝีมือเรื่องเขียน
“ตอนนั้นเธอเรียนชั้นปี 3 เอกภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มาสมัครเรียน ก็รับไว้ มีปัญหาว่า วิชานี้ เรามีงานหลักคือเขียนบันทึก คนมองไม่เห็น ไม่รู้จะเขียนอย่างไร เขาบอกเขาพิมพ์ได้ พิมพ์เป็นกระดาษได้ ก็อนุโลม แทนที่จะเขียนด้วยลายมือ”
“การบ้านของพลอยเป็นการบ้านที่สมบูรณ์แบบ บันทึกทุกวัน เป็นบันทึกที่ดี มีทัศนคติที่ดีต่อชีวิต มีความเห็นเรื่องต่างๆ ที่ดี พอสอนไปได้สัก 2 สัปดาห์ ผมอ่านบันทึกทุกวัน ก็รู้แล้วว่า ต้นฉบับนี้ การบ้านที่ส่งนี้ จะเป็นหนังสือได้ ในสัปดาห์ที่สาม ก็ประกาศหน้าชั้นว่า นี่คือนักเขียนคนต่อไป หลังจากจบเทอมแรก เราก็พยายามรวบรวมต้นฉบับ ในปีรุ่งขึ้น พลอยก็มาลงทะเบียนเรียนอีกวิชาหนึ่ง เพราะฉะนั้นพอเรียนไปได้ครบ 2 เทอม ต้นฉบับมากพอที่จะเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ก็รวบรวมเป็นหนังสือ พิมพ์เสร็จ ก็ส่งเข้าประกวด ได้รับรางวัลในปีนั้น” อ.มกุฏ อรฤดี อาจารย์พิเศษวิชาบรรณาธิการศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ /บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ชื่นชมงานเขียนของพลอย
งานเขียนของพลอยคว้ารางวัลจากกระทรวงศึกษาธิการมาแล้ว 2 เล่ม เล่มแรก “จนกว่าเด็กปิดตาจะโต” ส่วนอีกเล่ม “ก ไก่ เดินทาง นิทานระบายสี” พลอยไม่เพียงเป็นคนตาบอดที่พิมพ์ตัวอักษรได้ แต่เธอยังเขียนตัวหนังสือด้วยลายมือได้ รวมทั้งสามารถวาดรูปได้อีกด้วย
พลอยยอมรับว่า ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมฯ เธอเป็นคนขี้กลัว ไม่กล้าทำอะไร ถ้าไม่มีเพื่อนทำ อยากเข้าชมรมดนตรี ก็ไม่กล้าเข้า เพราะไม่มีเพื่อนเข้าด้วย เมื่อเข้ามาเรียนที่จุฬาฯ เธอจึงคิดใหม่ และไม่ยอมให้ความกลัวมาขัดขวางการจะได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักอีกต่อไป
“พอขึ้นมหาวิทยาลัย คิดว่า ถ้าเราไม่กล้าทำในสิ่งที่เราอยากทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันไม่ไหวแล้ว มันไม่มีความสุข เราต้องเรียนในสิ่งที่เราไม่ชอบ เราจะต้องไปในที่ที่เราไม่อยากไป ก็เสียโอกาส เสียเวลาในสิ่งที่เราอยากทำ เพราะมหาวิทยาลัยก็มีครั้งเดียว เราเลยรู้สึกว่า งั้นต่อไปนี้ อยากทำอะไร จะทำเลย ก็ต้องรวบรวมความกล้าเหมือนกัน ตอนนั้นที่จะสมัครเข้าชมรม C.U. Band เพราะเพื่อนที่คณะที่รู้จัก ก็ไม่มีใครเข้าชมรมนี้”
พลอยยืนยันว่า การเล่นเปียโนของเธอ ไม่ได้เล่นเพื่อแสดง หรือซ้อมให้เก่ง แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงคือเล่นเพื่อคลายเครียด เล่นเพื่อให้ตัวเองบันเทิงมากกว่า
ความสามารถด้านดนตรีของพลอย ไม่เพียงผ่านการเล่นเปียโนหรือร้องเพลง แต่เธอยังแต่งเพลงได้อีกด้วย เช่น แต่งเพลง “เพื่อนฝัน” ให้โครงการฝึกฝนผู้ดวงตาพิการให้เขียนหนังสือ ฯลฯ
ไม่เท่านั้น คนตามองไม่เห็นเช่นพลอยยังมีความสามารถด้านกีฬาอีกต่างหาก และคว้าเหรียญรางวัลมาแล้วมากมาย
“ส่วนใหญ่เป็นเหรียญวิ่ง จุดเริ่มต้นของการวิ่ง คือ พี่สาวพลอยไปลงวิ่งแข่งการกุศล ตอนนั้นเราไปยืนเฝ้าเขาหน้าเส้นชัย เราเห็นบรรยากาศเขาวิ่ง รู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่ดูน่าสนุกดี ได้ออกกำลังกายด้วย ตอนนั้นรู้สึกว่าเราอยากทำอะไรบางอย่างร่วมกับครอบครัว เห็นว่าการวิ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำด้วยกันได้ ทำให้เราแข็งแรงขึ้นด้วย เลยเริ่มชวนพ่อ พี่ ไปซ้อมวิ่ง ประกอบกับตอนนั้นมีกลุ่มกิจกรรมหนึ่ง ชื่อ วิ่งด้วยกัน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เชิญชวนคนที่พิการกับไม่พิการมาวิ่งด้วยกัน กรณีอย่างพลอยมองไม่เห็น จะวิ่งไปได้ ต้องมีคนนำทาง วิ่งกับพ่อ จะได้มุมมองใหม่ๆ กลับมาตลอด ไม่เฉพาะกับพ่อ พลอยว่าการวิ่งเป็นสิ่งที่ให้อะไรหลายๆ อย่างกับพลอย เราไปด้วยกันเป็นครอบครัว มันอุ่นใจ ได้ใช้เวลาร่วมกัน”
ถ้าการสอบได้ทุนเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และความสามารถด้านการเขียน-ดนตรี-กีฬา เป็นเรื่องน่าทึ่งสำหรับคนตาบอดแล้ว พลอยยังทำได้มากกว่านั้น เพราะเธอจบปริญญาตรีโดยได้เกียรตินิยมอันดับ 1 อีกด้วย
“โห! เกียรตินิยมเลยเหรอ ไม่ต้องก็ได้ เราก็ดีใจ ไม่ต้องเกียรตินิยมก็ได้ เดี๋ยวเรียนโท ก็เหนื่อย ผมก็บอก ผมก็คอยเป็นกำลังใจให้เขาอยู่เรื่อย" นพดล กิตติสิริพันธุ์ พ่อดีใจลูกได้เกียรตินิยม
“ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 แม่ดีใจ เพราะลูกเราสำเร็จไปขั้นตอนหนึ่งแล้วนะ พร้อมที่จะก้าวสู่โลกอีกแบบหนึ่งแล้ว โลกการทำงาน คุณครูมกุฏก็รับ เป็นบรรณาธิการฝึกหัด และให้น้องพลอยเขียนหนังสือด้วย ...ตอนนี้น้องพลอยหยุดก่อน น้องศึกษาต่อ เรียนจิตวิทยา ปริญญาโท” จารุกร กิตติสิริพันธุ์ แม่ดีใจเช่นกันที่ลูกสาวได้เกียรตินิยม
“พลอย” ขอบคุณกำลังใจจาก “พ่อ-แม่-พี่สาว”
“พลอยว่า ส่วนหนึ่งที่พลอยรู้สึกว่าเป็นความโชคดีของพลอยคือ พ่อกับแม่ ไม่ได้กดดันว่า พลอยจะต้องเก่ง จะต้องทำอันนี้ให้ได้ ต้องสำเร็จ สำเร็จก็ได้ ไม่สำเร็จก็ได้นะ ขอแค่เราได้ลองทำ พ่อกับแม่จะคอยซัพพอร์ตเราอยู่ตรงนี้ เราเลยรู้สึกว่า เราผิดพลาดได้ ทำให้เราไม่กลัวการทดลองอะไรเลย”
“ขอบคุณพ่อกับแม่ พี่สาว ทั้งสามคนเป็นกำลังใจสำคัญมากๆ ของพลอย และเป็นคนที่ทำให้พลอยยังอยากทำสิ่งต่างๆ ต่อไป”/b>
"พลอย" ฝากข้อคิดให้คนตาบอดเห็นคุณค่าของตัวเอง
“พลอยอยากบอกคนที่พิการทางสายตา อย่าให้ความพิการมาปล้นชิงคุณค่าในตัวเราไป อย่าให้มันมาเอาความสุขของเราไป ตัวเรามีคุณค่า มีความสุขได้ การมองไม่เห็นไม่ใช่สิ่งที่จะกำหนดว่า เราจะมีคุณค่ามากหรือน้อย มีความสุขมากหรือน้อย เราทำได้ทุกอย่าง ถ้าเราสนุกและอยากจะทำ”
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
รับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos