xs
xsm
sm
md
lg

ลึกทันใจ : เรื่องยุ่งคำนวณปาร์ตีลิสต์มาจาก รธน.บกพร่อง?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน เรื่องยุ่งคำนวณปาร์ตีลิสต์มาจาก รธน.บกพร่อง? ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม 2562



นับตั้งแต่มีการจัดการเลือกตั้งเป็นต้นมา เรียกได้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ชุดนี้ เป็นหนังหน้าไฟที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือหากจะพูดภาษาชาวบ้านก็คือถูกด่ามากที่สุด จากปัญหานานัปการที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องความสับสนและล่าช้าในการนับคะแนน ผ่านไปเดือนกว่ายังไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ เนื่องจากไม่รู้จะใช้สูตรไหนในการคำนวณจำนวน ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ แล้วยังมีปัญหาการร้องเรียนมากมายและความไร้มาตรฐานในการพิจารณาตัดสินข้อร้องเรียนต่างๆกระทั่งถูกมองว่าเลือกปฏิบัติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บางพรรคบางกลุ่มด้วย

แต่เรื่องที่เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความวิตกมากที่สุดก็คือเรื่องการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่ง ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า บอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความบกพร่องในการเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ไปเขียนคำว่า “จำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงจะมีได้เบื้องต้น” ไว้ในมาตรา 128 (2) ซึ่งขัดกับที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 9(2) ที่เขียนว่า “จำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงจะมีได้” ทำให้เกิดการตีความที่ต่างกัน ซึ่ง กกต. ยึดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (2) ทำให้เกิดสูตรการคำนวณที่พรรคซึ่งมีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน ก็ได้ ส.ส. จากระบบปาร์ตี้ลิสต์ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการร้องเรียนเพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นอกจากจะต้องคำนวณจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ใหม่ซึ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวายแล้ว กกต.ก็ต้องรับผลที่ตามมาด้วย เพราะอาจมีผู้นำประเด็นนี้ไปร้องต่อศาลอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า กกต. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 157 ซึ่งอาจถึงขั้นติดคุกเลยทีเดียว

อีกเรื่องที่วิตกกันมากก็คือจากปัญหาการร้องเรียนที่มีมากมายและการคำนวณคะแนนที่ล่าช้าอาจทำให้ กกต.ไม่สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ทันภายในวันที่ 9 พ.ค. 2562 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ระบุว่าต้องจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันหลังจากที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ที่ใช้ในการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ เรื่องนี้หากประกาศทันปัญหาก็ไม่เกิด แต่หากไม่ทัน ก็เสี่ยงว่าอาจทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ เนื่องจากต้องมีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องนี้ และหากศาลตัดสินว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะเพราะการจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กกต.ก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 4,000 ล้านบาท

ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. เห็นว่า แม้จะมีปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งและคุณสมบัติว่าที่ ส.ส.เป็นจำนวนมาก ก็ไม่น่าส่งผลให้การรับรองผลการเลือกตั้งล่าช้าออกไป โดยเชื่อว่า กกต.น่าจะประกาศรับรองการเลือกตั้งภายในวันที่ 9 พฤษภาคมไปก่อน จากนั้นจึงค่อยทยอยพิจารณาข้อร้องเรียนในภายหลัง เพราะแม้จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว แต่หากต่อมาพบว่าผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง กกต.ก็สามารถยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาให้พิจารณาถอดถอนและสั่งให้จัดการเลือกตั้งในเขตนั้นใหม่

อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งที่หวั่นเกรงกันว่าจะเป็นปัญหาซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพของพรรคที่เป็นรัฐบาลก็คือ การแจกใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม ที่อาจส่งผลให้ ส.ส.พ้นจากสมาชิกภาพ และต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะหากหลังการเลือกตั้ง พรรคที่ได้รับเลือกไม่ใช่พรรคการเมืองเดิม จะส่งผลต่อสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ทันที ทำให้จำนวน ส.ส.โดยรวมของพรรคไม่นิ่ง โดยเฉพาะหากอยู่ในสถานการณ์ที่รัฐบาลกับฝ่ายค้านมีจำนวน ส.ส.ใกล้เคียงกัน หากเกิดกรณีพลิกผันฝ่ายค้านขึ้นมามีคะแนนเสียงมากกว่าก็จะเกิดปัญหาในการลงมติต่างๆ ในสภาได้ ซึ่งมันกระทบชิ่งกันไปหมด โดยเฉพาะในภาวะที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ อยู่ๆ พรรครัฐบาลอาจจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ได้ แล้วจะบริหารประเทศกันอย่างไรต่อไป ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด

ทีมข่าวลึกทันใจ รายงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น