xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจทนายพันธมิตรฯ 60 คดีส่วนใหญ่ยกฟ้อง แนวพิพากษาชี้ชัดชุมนุมตามสิทธิตรวจสอบนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทนายพันธมิตรฯ เผยกว่า 60 คดีที่ขึ้นสู่ศาล ส่วนใหญ่ยกฟ้อง แนวคำพิพากษาระบุชัด เป็นการชุมนุมโดยสงบ มุ่งให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิ ตรวจสอบนักการเมือง และให้มีความจงรักภักดี แกนนำถูกจำคุกคดีเดียวคือชุมนุมในทำเนียบ ฐานบุกรุก-ทำให้เสียทรัพย์ ขณะยังเหลืออีกคดีคือก่อการร้ายชุมนุมสนามบิน ย้ำทุกคนคือวีรบุรุษ ยอมเผชิญข้อหาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม



รายการ “คนเคาะข่าว” วันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ และ น.ส.อัจฉรา แสงขาว ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์นายเติมศักดิ์ จารุปราณ ผู้ดำเนินรายการ ถึงภาพรวมความคืบหน้าของคดีความของพันธมิตรฯ ว่า คดีทั้งหมดเริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 ที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล วิพากษ์วิจารณ์ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจนถูกถอดรายการโทรทัศน์และออกมาจัดรายการสัญจรที่สวนลุมพินีจนกลายเป็นพันธมิตรฯ และมีการชุมนุมต่อเนื่องจนถึงปี 2554 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีคดีความที่แกนนำตกเป็นจำเลยขึ้นสู่ศาลทั้งสิ้น 60 คดี ไม่นับรวมคดีที่พนักงานสอบสวนหรืออัยการสั่งไม่ฟ้องหลายคดี รวมแล้วน่าจะถึง 100

คดีความส่วนใหญ่รัฐบาลพยายามใช้คดีอาญามาเล่นงานก่อน เพื่อให้พันธมิตรฯ ได้รับความลำบาก โดยการแจ้งความ ออกหมายจับ ให้มีผู้ต้องหาจำนวนมาก โดยคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมโดยตรงเริ่มตั้งแต่การออกแถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 1 ในเดือน ก.พ.2551 หลังจากที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีและประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อไม่ให้พรรคพลังประชาชนถูกยุบจากกรณีที่กรรมการบริหารพรรคซื้อเสียง และแก้มาตรา 309 เพื่อให้สำนวนคดีนายทักษิณ ชินวัตร มีพฤติกรรมทุจริต ที่ คตส.ทำไว้กลายเป็นโมฆะ ซึ่งพันธมิตรฯ ต้องออกมาคัดค้านเริ่มจากการออกแถลงการณ์ต่อเนื่อง แต่รัฐบาลนายสมัครยังไม่ยอมหยุด จึงนำไปสู่การออกมาชุมนุมใหญ่ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.51 ที่ถนนราชดำเนินแล้วเคลื่อนขบวนไปสะพานมัฆวาฬรังสรรค์ ก่อนย้ายไปสะพานชมัยมรุเชฐ แล้วย้ายกลับมาที่สะพานมัฆวาฬฯ แต่ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงมาก่อกวนและทำร้ายร่างกาย จึงย้ายเข้าไปชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ นายทักษิณซึ่งถูกพาดพิงในแถลงการณ์ได้ฟ้องทันทีตั้งแต่พันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์ฉบับแรกจนถึงฉบับที่ 5 ซึ่งคดีส่วนใหญ่ศาลยกฟ้องไปจนถึงชั้นฎีกา โดยระบุชัดเจนว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและทำให้ประชาชนตื่นรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง และการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ให้ประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลนายสมัครอยู่ภายใต้การครอบงำและสั่งการของนายทักษิณ ชินวัตร ให้ทราบถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ไม่มีคุณธรรมและธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มีวาระซ่อนเร้นตลอดจนมีการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หลายเรื่อง

คำพิพากษาตอนหนึ่งยังระบุว่า หลังการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยุติลงข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปรับฟังได้ว่าข้อมูลที่พันธมิตรฯ ปราศรัย ระหว่างการชุมนุม ปัจจุบันพบว่ามีมูลความจริงในหลายเรื่อง บางเรื่องมีการดำเนินคดีทางอาญากับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ศาลพิพากษาว่ามีความผิดและลงโทษไปแล้วหลายคดี ข้อมูลบางเรื่องต้องถือว่าเป็นประโยชน์และให้ความรู้แก่ประชาชนทำให้ประชาชนตื่นรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทำให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนั้น ยังมีคดีปฏิญญาฟินแลนด์ที่นายทักษิณเป็นโจทก์ ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้อง นอกจากนี้ ยังมีคดีที่ศาลปกครอง ซึ่งพันธมิตรฯ ฟ้องนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศในรัฐบาลนายสมัคร ที่ทำข้อตกลงร่วมกับกับพูชาในการให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งศาลปกครองได้พิพากษาให้ข้อตกลงดังกล่าวเป้นโมฆะเพราะไม่ได้ผ่านรัฐสภา รวมทั้งคดีสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ

สรุปได้ว่าคดีพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง มีเพียงคดีเดียวที่แกนนำถูกตัดสินจำคุกคือ คดีชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งแกนนำถูกพิพากษาจำคุก 8 เดือน ฐานบุกรุกและทำให้ทรัพย์สินเสียหาย อาทิ สนามหญ้า สปริงเกอร์ กล้องวงจรปิด และหลอดไฟ ส่วนข้อหากบฏศาลยกฟ้องตั้งแต่แรก แม้มีการนำมาฟ้องใหม่ศาลก็เป็นการฟ้องซ้ำ

นายสุวัตร ซึ่งอยู่ร่วมการชุมนุมรวมทั้งขึ้นเวทีปราศรัยด้วย กล่าวว่า การเข้าไปชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลนั้น เกิดขึ้นหลังจากการชุมนุมที่สะพานมัฆวานฯ ถูกก่อกวนและตำรวจก็ปล่อยให้คนเสื้อแดงเข้ามาทำร้าย อย่างไรก็ตามในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ที่มีการเข้าไปในทำเนียบนั้น แกนนำได้จัดชุมนุมแบบดาวกระจาย และมีผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไปในทำเนียบ แกนนำจึงต้องตามเข้าไปเพื่อควบคุมดูแลไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง โดยให้อยู่แต่เฉพาะบริเวณสนามหญ้า ห้ามเข้าไปในตัวตึก จัดการชุมนุมอย่างมีระเบียบ มีการเก็บขยะ สวดมนต์ตอนเช้า มีการฝึกอาชีพ ตัดผมฟรี แม้แต่ตำรวจก็เข้าไปตัด แสดงว่าการชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อยตลอด

อย่างไรก็ตาม แกนนำรู้ว่าการเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี แต่ก็ต้องทำอารยขัดขืนเพื่อชนะให้ได้ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองอาจอยู่ไม่ได้ อาจมีการแก้ไขมาตรา 309 ล้มการกระทำของ คตส. แก้มาตรา 237 พรรคพลังประชาชนก็ไม่ถูกยุบ ระบอบทักษิณอาจจะยึดประเทศไทยไปแล้ว ทั้งนี้ แกนนำทุกคนยืนยันว่าถ้าย้อนกลับเวลาไปได้ก็ยังจะทำเหมือนเดิม เพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ ซึ่งในคำพิพากษาก็ระบุไว้ชัดเจนว่าแกนนำพันธมิตรฯ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

เช่นเดียวกับคดีล่าสุดที่ศาลอาญามีคำพิพากษา คือ คดีการชุมนุมหน้ารัฐสภาวันที่ 5-7 ตุลาคม 2551 ซึ่งศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง โดยคำพิพากษาบางตอนระบุว่า “การชุมนุมของ พธม. มีแกนนำ พวกจำเลย และวิทยากรต่างๆ ขึ้นปราศรัยให้ความรู้ประชาชน ให้ตระหนักถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตรวจสอบนักการเมือง เมื่อประชาชนรับฟังคำปราศรัยแล้วเห็นด้วยว่าการบริหารประเทศของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องโดยช่วยเหลือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จากคดีทุจริต, ช่วยเหลือคดียุบพรรคพลังประชาชนที่นายสมัครเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และกรณีนายสมัคร กับนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ได้เซ็นยินยอมให้ประเทศกัมพูชานำพื้นที่เขาพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการจ้างวานจูงใจผู้ชุมนุม ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

“ต่อมาเมื่อนายสมัครพ้นจากตำแหน่ง นายสมชายขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ผู้ชุมนุมเห็นว่านายสมชายเป็นตัวแทนหุ่นเชิดของนายทักษิณ จึงชุมนุมคัดค้านต่อ โจทก์มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดตามการชุมนุม ทั้งดูแลการชุมนุมและแฝงตัวหาข่าวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ต่างเบิกความสอดคล้องกัน ถึงการชุมนุมที่เป็นไปตามปกติ ไม่มีเหตุความรุนแรง มีการ์ดรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบห้ามนำอาวุธและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าพื้นที่ชุมนุม ในวันเกิดเหตุไม่มีผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในสภา สอดคล้องกับพยานผู้ชุมนุมที่ยืนยันว่าได้ชุมนุมโดยสงบ และได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา ทั้งนี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำ พธม. ได้ประกาศอยู่ตลอดว่าห้ามนำอาวุธและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าพื้นที่ชุมนุม จึงรับฟังได้ว่าพวกจำเลยชุมนุมโดยสงบ

“การปราศรัยของพวกจำเลยที่กล่าวหานายสมชาย ซึ่งเป็นน้องเขยของนายทักษิณ เป็นตัวแทนนายทักษิณนั้น ก็ไม่เลื่อนลอยปราศจากเหตุผล เนื่องจากมีคดีที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณในเรื่องการทุจริต มีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหลายกรณี และกรณีเขาพระวิหาร ซึ่งศาลมีคำพิพากษาไว้แล้ว เช่น คดีที่ดินรัชดาของนายทักษิณที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดียุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนในภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง คดีทุจริตที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และคดีที่ศาลปกครองกลางเพิกถอนการลงนามให้กัมพูชานำเขาพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว การหยิบยกมาปราศรัยและชุมนุมเชิงสัญลักษณ์นับว่าสมเหตุสมผล ชุมนุมโดยสงบปราศจากรุนแรง

“ผู้ชุมนุมจำเป็นต้องปักหลักชุมนุมรอบรัฐสภา เนื่องจากสภาเป็นที่ประชุมตามระบอบประชาธิปไตย แม้การชุมนุมจะกีดขวางการจราจรบ้างเพราะมีผู้ชุมนุมมากก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ปรากฏเหตุวุ่นวายที่มาจากผู้ชุมนุม ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่บุกรุกยั่วยุ เหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาจากการสลายการชุมนุม ยิงแก๊สน้ำตาโดยไม่แจ้งเตือนล่วงหน้า ทำให้ผู้ชุมนุมไม่ทันหลบหลีกป้องกันตัว ได้รับบาดเจ็บหลายราย เมื่อผู้ชุมนุมรู้สึกโกรธแค้นจึงเกิดความไม่สงบ ใช้สิ่งของขว้างปา เมื่อเห็นตำรวจละเมิดสิทธิก่อน ย่อมเกิดความวุ่นวาย ยากที่แกนนำจะคาดหมายสถานการณ์ ไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมทำไปเพราะพวกจำเลยยุยงปลุกปั่น เป็นความวุ่นวายที่เกิดจากคนส่วนน้อย ผู้ชุมนุมทำไปเฉพาะตัว จะถือว่าจำเลยทั้งหมดกับผู้ชุมนุมอื่นชุมนุมไม่สงบด้วยหาได้ไม่ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 116, 215, 216

“ประเด็นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหมดกระทำผิดฐานข่มขืนใจ และหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือไม่ โจทก์มีอดีต ส.ว. ผู้เสียหายปากเดียวเป็นพยานเบิกความว่าต้องการเข้าไปประชุมรัฐสภา แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ พบผู้ชุมนุมเดินเข้ามาผลักอก พร้อมถามว่ามาทำไม ทำให้พยานเดินทางกลับ เห็นว่าผู้ชุมนุมโกรธแค้นหลังถูกสลายการชุมนุม จึงระบายอารมณ์ไม่พอใจกับผู้เสียหายด้วย แต่ทางนำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดอยู่บริเวณดังกล่าว จึงไม่รู้เห็น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ชุมนุมที่ไม่ระงับอารมณ์จากสถานการณ์บีบคั้น

“ส่วนที่อดีต ส.ส. ผู้เสียหายรวม 7 คน เบิกความว่าในช่วงบ่ายไม่สามารถเดินทางออกจากสภาได้ เพราะผู้ชุมนุมปิดล้อมทางเข้าออก นำโซ่ล็อกประตู มีรถบรรทุกจอดขวาง มีผู้ชุมนุมตะโกนว่าฆ่ามันนั้น เห็นว่าการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล ทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บหลายร้อยรายเป็นเรื่องร้ายแรง ทำให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ ขณะนั้นแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ภายหลังศาลปกครองสูงสุดยังได้พิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้ชุมนุมด้วย การสลายการชุมนุมดังกล่าวทำให้ผู้ชุมนุมโกรธแค้น เกิดความวุ่นวายเป็นเรื่องธรรมดา ยากที่แกนนำจะควบคุมได้ทุกคน จากความไม่พอใจในขณะที่ด้านนอกสภาสลายการชุมนุม แต่ ส.ส. และ ส.ว. ประชุมกันตามปกติ ไม่ใยดีความเสียหายของคนไทยด้วยกัน ทำให้ผู้ชุมนุมระบายความรู้สึกด่าทอผู้เสียหายเมื่อประชุมเสร็จ

“จากข้อเท็จจริงเป็นไปได้ว่า ผู้ชุมนุมมีความคับแค้นจากสถานการณ์พาไป เกิดขึ้นทันด่วน ยากที่แกนนำจะควบคุม ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งหมดมีส่วนยุยงปลุกปั่นตามฟ้อง มีเพียงการกระทำเฉพาะตัวเฉพาะรายของผู้ชุมนุมเอง พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคง พิพากษายกฟ้อง”
น.ส.อัจฉรา แสงขาว
นายสุวัตรกล่าวว่า คดีนี้ ถ้าอัยการมีใจเป็นธรรมก็ไม่น่าจะอุทธรณ์ เพราะหลายคดีที่ศาลยกฟ้อง พันธมิตรฯ ไม่เคยฟ้องกลับตำรวจหรืออัยการเลย และเชื่อว่าคำพิพากษาที่ออกมาจะเป็นแนวให้กับคำพิพากษาในคดีอื่นๆ ที่ยังค้างอยู่ ทั้งนี้ สำหรับคดีสำคัญที่ยังเหลืออยู่ ก็มีคดีข้อหาก่อการร้ายกรณีชุมนุมในสนามบิน ซึ่งมีผู้ต้องหาเป็นแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมทั้งหมด 98 คน

ในการสู้คดีนั้น พันธมิตรฯ มีกองทุนสู้คดีที่ตั้งมาตั้งแต่ประมาณปี 2548 ยังเหลือเงินอยู่ประมาณ 3 ล้านกว่าบาท ขณะนี้ยังมีพี่น้องโอนเงินเข้ามาให้เรื่อยๆ ซึ่งเราจะใช้เงินจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการสู้คดี ดูแลแกนนำและครอบครัวที่ถูกจำคุก รวมทั้งกลุ่มนักรบศรีวิชัยที่ถูกจำตุกในคดีบุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยพี่น้องที่ต้องการจะช่วยเหลือสามารถโอนเงินเข้าบัญชี “มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน เพื่อพันธมิตรสู้คดี” ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางลำพู บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 008-2-26479-7

นายสุวัตรกล่าวในตอนท้ายว่า แกนนำพันธมิตรฯ ต้องได้รับวิบากกรรม ทั้งที่ไม่ได้ทำเพื่อตนเองเลย ตนถือว่าทุกคนเป็นวีรบุรุษในใจ จะลืมเขาไม่ได้ ให้ย้อนกลับไปวันนั้น ก็จะสู้อย่างนี้ พวกเราอย่าลืมว่าสิ่งที่เคยสู้กันไว้ ซึ่งทำให้เกิดคุณูปการมากมาย เราได้ช่วยกันเขียนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยไว้ตอนหนึ่งแล้ว

ขณะที่ น.ส.อัจฉรากล่าวว่า ตนในฐานะเป็นผู้ชุมนุมคนหนึ่ง เห็นว่าแกนนำทุกคนทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งได้ผลประโยชน์ส่วนตนเลยแม้แต่นิดเดีย จากวันนั้นจนถึงวันนี้เราก็ยังเป็นเหมือนเดิม ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่เราเป็นผู้ชุมนุมด้วย เข้าร่วมชุมนุมด้วยแล้วก็รู้ว่าเจตนาของพันธมิตรที่แท้จริงเป็นอย่างไร คือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าเราจะโดนคดี ไม่ว่าเราจะถูกกระทำยังไง ถ้าไปศาลทุกครั้งจะเห็นความอบอุ่นแล้วก็ความมีมิตรไมตรีที่พี่น้องพันธมิตรมีให้กันทุกครั้ง เป็นความอบอุ่นที่เราเป็นพันธมิตรที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น