รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน เหตุที่ไฮสปีดเทรนยังไปไม่ถึงไหน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562
การเจรจาต่อรองเงื่อนไขร่างสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร กับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน จนถึงวันนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้ หรือในที่สุดอาจต้องตกไปอยู่ในมือของกลุ่ม กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ ก็ยังเป็นไปได้!
การที่โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 224,000 ล้านบาท และซีพี เป็นผู้ชนะตามเงื่อนไขในการเสนอตัวเลขให้รัฐลงทุนน้อยที่สุด แต่มีการเสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมในซองที่ 4 อีกหลายประเด็น ทั้งในเรื่องของส่วนต่อขยายไปถึงจังหวัดระยอง การขอสิทธิขยายเส้นทางเชื่อมการขนส่งเพื่อให้ประชาชนมาใช้บริการ, การขอขยายสัมปทานการเดินรถและการใช้ที่ดิน จาก 50 ปีเป็น 99 ปี, มีการขอเปลี่ยนให้รัฐจ่ายเงินสนับสนุนจากเดิมชำระเมื่อสร้างเสร็จในปีที่ 6-10 เป็นจากตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่ 6
แต่เรื่องที่สร้างความหนักใจที่สุดให้คณะกรรมการฯ ก็คือข้อเสนอทางด้านการเงินที่ต้องการให้รัฐค้ำประกันผลตอบแทนโครงการ 6.75 % และให้รัฐสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 4% ทำให้การเจรจาแต่ละครั้งไม่สามารถหาข้อสรุปถึงขั้นเซ็นสัญญาได้ จนนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ อธิบดีอัยการ ประธานอนุกรรมการร่างสัญญาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการนี้ฯ ต้องนำผลการเจรจาสรุปรายละเอียดเพื่อนำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ ชุดที่มีนายวรวุฒิ มาลา พิจารณาในวันศุกร์ที่ 22ก.พ.นี้
นอกจากนี้ประเด็นที่ซีพีเสนอเพิ่มเติมยังมีข้อที่ตีความแตกต่างกัน เช่นในเรื่องการขอขยายสัมปทานจาก 50 ปี เป็น 99 ปี เมื่อเรียกซีพีเข้ามาเจรจาก็ทำให้เข้าใจว่าไม่ได้เป็นการขอขยายเพียงแต่ว่าเมื่อครบอายุสัญญา 50 ปี ก็ขอให้ทาง ร.ฟ.ท.พิจารณากลุ่มซีพี เป็นรายแรก ซึ่งประเด็นนี้ก็เหมือนกับการต่อสัญญาของเซ็นทรัล ลาดพร้าว
อีกทั้งสิ่งที่ซีพีแสดงความกังวลต่อการลงทุนโครงการนี้ก็คือ การคาดการณ์ตัวเลขผู้ใช้บริการไฮสปีดเทรน ซึ่งเป็นผู้โดยสารที่เข้ามาลงทุนตามแผนพัฒนา EEC โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดขั้นที่ 3 เพราะถ้าตัวเลขเป็นไปตามเป้า ก็มีโอกาสที่ไฮสปีดเทรนจะประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
ดังนั้น ทุกประเด็นที่มีการเสนอต่อคณะกรรมการฯ พิจารณานั้นจึงมีที่มาที่ไป โดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเงิน เพราะกว่าที่ไฮสปีดเทรนจะเปิดให้บริการได้ต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จ จากปีที่ 6ถึงปีที่ 10 รัฐถึงจะจ่ายเงินสนับสนุน ส่วนรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากค่าโดยสารจะเริ่มจากปีที่ 6 เป็นต้นไป ซึ่งช่วงระยะปีที่ 6-10 จะมีผู้โดยสารจำนวนเพียงพอหรือไม่?
เพราะจากการคาดการณ์จะมีผู้โดยสารเพียงพอต้องลุ้นกันไปถึงปีที่ 10ซึ่งก็คือปีที่ 15 นั่นเอง!
แหล่งข่าวบอกว่า เงื่อนไขที่ซีพีเสนอมานั้นมีบางข้อเห็นชัดว่า มีความเป็นไปได้เพียงแค่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเท่านั้น แต่ทุกอย่างต้องไม่ขัดข้อเสนอการร่วมลงทุนใน RFP ที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ ซึ่งกลุ่มซีพีก็ยังมีโอกาสที่จะได้โครงการนี้อยู่ ขณะที่กลุ่มบีทีเอส ก็ยังไม่สิ้นหวัง หากการเจรจาระหว่างคณะกรรมการฯ กับกลุ่มซีพีไม่สามารถหาข้อยุติได้จนถึงขั้นยุติการเจรจา คณะกรรมการฯ ก็สามารถเรียกกลุ่มบีทีเอสมาเจรจาต่อไปได้เช่นกัน จึงต้องจับตาดูว่าในที่สุดโครงการไฮสปีดเทรนมูลค่ากว่า 2แสนล้าน ใครจะได้ไปครอง!!
ทีมข่าวลึกทันใจรายงาน