xs
xsm
sm
md
lg

“ครูโจ่ย” ครูตำรวจข้างถนน บริการประชาชนด้วยหัวใจ ชุบชีวิตเด็กเร่ร่อนให้สดใส!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 พาคุณผู้ชมไปพบกับเรื่องราวของ “ครูโจ่ย” ที่ไม่เพียงเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่คอยบริการประชาชน แต่ยังเป็น “ครูตำรวจข้างถนน” ช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ให้มีอนาคตที่สดใส-ไม่เป็นภาระต่อสังคมอีกด้วย



ร.ต.อ.ชาติชาย โจ่ยสา รองสารัตรป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ นอกจากรับผิดชอบงานด้านบริการประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่เดินทางโดยรถไฟมาถึงหัวลำโพง เพื่อเดินทางต่อไปสถานที่อื่นๆ แล้ว ยังมีงานเสริมที่น่าชื่นชมอีกงานหนึ่ง คือ การเป็น “ครูตำรวจข้างถนน”

“ตั้งแต่ปี 40 เลย ช่วงปีนั้น เด็กด้อยโอกาส หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า เด็กข้างถนนเยอะมากๆ โดยเฉพาะพื้นที่หัวลำโพง สำนักงานตำรวจแห่งชาติเลยคิดว่า เราใช้วิธีจับอย่างเดียว มันไม่ได้ผล กับเด็กเยาวชนพวกนี้ เดี๋ยวก็ออกมาก่อปัญหาอีก เราเริ่มทดลองสักโครงการดีไหม โดยเอาตำรวจไปเป็นเพื่อน เป็นพี่ หรือไปเป็นพ่อแม่ของเด็กๆ นี่ดีไหม เขาเลยตั้งชื่อโครงการ ครูตำรวจข้างถนน เพื่อให้ตำรวจทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นครู อบรมสอนเด็ก เผื่อพฤติกรรมเขาจะดีขึ้นมา”

เหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ?

“ตอนนั้นผมรับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม ก็เริ่มมีครอบครัวแล้ว เริ่มมีลูก เราคิดว่า ไปเริ่มทดลองทำโครงการนี้ดูดีไหม เผื่อเราจะได้เอาความรักที่เรามีกับครอบครัวกับลูกเรา มอบให้เด็กๆ กลุ่มนี้ เผื่อเด็กกลุ่มนี้จะมีโอกาสดีขึ้นในสังคม ก็สมัครเข้าเลย”

การช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนตามโครงการครูตำรวจข้างถนน ครูโจ่ยจะทำงานประสานกับองค์กรเอกชนในเครือข่ายที่จะรับไม้ต่อในการอบรมดูแลเด็กๆ เหล่านี้ ให้ได้รับการศึกษา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานในช่วงแรกๆ การจะเข้าถึงเด็กเร่ร่อน ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ตอนแรก เราแต่งเครื่องแบบไปทำงานเลยนะ เข้ากับเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เลย หาเด็กกลุ่มนี้ไม่เจอ เด็กจะรู้ ตำรวจมาแล้ว น่าจะมาจับเพื่อนเขาหรือจับอะไรเขา เข้าหาเด็กไม่ได้เลย เราก็ศึกษาก่อน ศึกษาจากองค์กรเอกชนที่เขาทำงานบนท้องถนนก่อน เรียกว่า ครูข้างถนน ของเอ็นจีโอที่เขาทำอยู่แล้ว เช่น ศูนย์สร้างสรรค์เด็ก ศูนย์เมอร์ซี่คลองเตย พวกนี้มีครูลงพื้นที่ จะเข้าไปถามเทคนิคการทำงาน พอเราเป็นเครือข่ายกันแล้ว เขาก็บอกว่า ครูโจ่ย ครูแต่งเครื่องแบบ อีก 2 ปี ครูก็คงไม่เจอเด็กแน่ ครูโจ่ยต้องไม่แต่งเครื่องแบบ และเวลาเข้าหาเด็ก อันดับแรก ครูโจ่ยต้องมีขนมนมเนยก่อน มีเสื้อผ้าไปหลอกล่อเขาก่อน เพราะเด็กกลุ่มนี้ บางที 4-5 วันไม่เคยมีเสื้อผ้าใส่ มันเลอะอย่างนั้นแหละ และอันดับสุดท้ายเลยคือ ความรัก ครูโจ่ยต้องมีความรักเขา ต้องมองเด็กพวกนี้ อย่างน้อยๆ ไม่เป็นลูกเรา ก็ต้องเป็นหลานเรา”

“โบกี้รถไฟ” ถูกตัดแปลงเป็นห้องเรียนของเด็กๆ

“ส่วนใหญ่ห้องนี้(โบกี้รถไฟ) เป็นที่เรียนของเขา มีกระดานดำ เอ้า! ก ไก่ เขียนอย่างนี้นะ ร เขียนอย่างนี้ ... นี่เรียกว่า กรุงเทพฯ ที่ให้เรียนกรุงเทพฯ ก่อนเพราะอะไร เพราะเวลาพวกเอ็งหลงไปต่างจังหวัดแล้ว จะเข้ามากรุงเทพฯ เอ็งรู้แล้วว่า รถคันนี้เข้ากรุงเทพฯ เขียนว่า กรุงเทพฯ เอ็งก็ขึ้นรถเข้ามากรุงเทพฯ เด็กเหล่านี้ไม่รู้หนังสือ เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก เราก็ไม่ได้สอนวิชาอะไรเป็นอาชีพไป เพียงแต่สอนวิชาชีวิตในสังคม จะทำอย่างไรให้อยู่กับสังคมได้ 1.ต้องมีความรู้ ถ้าไม่มี ก็ไปเรียน เรียนเขียนอ่านอะไรไม่ได้ ก็ไปเรียนลัด เรามีเครือข่ายเป็น กศน. บางทีเช้ามาก็นอนอยู่ตรงถังขยะหัวลำโพง ก็ต้องไปปลุกเขา เขาไม่ได้เข้ามานี่ เจ้าตี๋ 8 โมงแล้ว โรงเรียนเข้าแล้ว งัวเงียมา เอาเสื้อผ้าใส่ พ่วงมอเตอร์ไซค์ไปส่งโรงเรียน ก็มี”

และมีบ้างเหมือนกัน ที่เด็กเร่ร่อนบางคน ไม่ได้อยากเรียนหนังสือ แต่อยากมีอาชีพติดตัวมากกว่า เขาจึงไม่ลังเลที่จะบอกครูโจ่ย ที่เขารักเหมือนพ่อ ให้ช่วยสอนอาชีพให้

“เขาบอก พ่อ เมื่อคืนผมไปท้องสนามหลวงมานะ มันมีการโชว์ที่ดีมากเลย โชว์มายากล แล้วมันเป็นอย่างไร? เขาก็บอกมันเป็นอย่างนี้ พ่อรู้จักสำลีไหม? ที่อยู่กับอาจารย์ฟิลิป ตัวดำๆ เล็กๆ อะ มันมาโชว์เมื่อคืน มันเล่นเก่งมากเลย พ่อรู้ไหม เจ้าสำลีเนี่ย มันเป็นเด็กเร่ร่อนเหมือนผมนี่แหละ แล้วอาจารย์ฟิลิปเก็บเขาไปเลี้ยง แล้วมันเก่งมากเลยพ่อ มันเนรมิตเสกนกมาได้นะ เอาอย่างนี้ ผมไม่เรียนหนังสือแล้วพ่อ พ่อไปเรียนมายากล แล้วมาสอนผม เป็นแบบเจ้าสำลีมั่ง ผมได้ไอเดียปิ๊งเลยนะ แล้วเอ็งจะให้พ่อทำอย่างไร? พ่อก็ไปเรียนมายากลกับ อ.ฟิลิป แล้วมาสอนผม ผมจะได้มีอาชีพ”

ด้วยความรัก พร้อมทำอย่างที่ลูกๆ เด็กเร่ร่อนต้องการ

“พอผมออกเวรวันนั้นปุ๊บ ผมไปที่โรงเรียนอาจารย์ฟิลิปเลย เอารูปอะไรติดไปด้วย ไปหาอาจารย์ฟิลิป บอก อาจารย์ครับ ผมจะมาเรียนมายากล อาจารย์ก็ยังไม่รู้ข้อมูลของผม เขาบอก การเรียนมายากลได้ คุณจะขึ้นเวทีได้ 3 สเต็ป สเต็ปแรก เรียนพื้นฐานก่อน 1 หมื่นบาท สเต็ปที่สอง เริ่มรู้อุปกรณ์ อีก 1 หมื่นบาท สเต็ปที่สาม ขึ้นเวทีได้แล้ว เสกนกเสกอะไรได้อีก 1 หมื่นบาท 3 หมื่นบาท เรียนไหม ผมเลยบอกอาจารย์ครับ ที่จริงแล้ว ผมเป็นครูสอนเด็กเร่ร่อนตามท้องถนน อาจารย์ก็ยังไม่เชื่อนะ ก็เลยเอารูปให้ดู อาจารย์ก็ เป็นครูเหรอ อาจารย์ก็เชื่อ เขาเลยบอก เอาอย่างนี้ครู ถ้าจะเรียนมายากล ค่อนข้างแพง และอุปกรณ์แพงมาก เอาอย่างนี้ เดี๋ยวผมให้น้องจัดอุปกรณ์เบื้องต้นมาให้ครูไปเรียนพื้นฐานก่อนนะ ครูไปเรียนเอาเอง”

แม้ช่วงแรก ครูโจ่ยจะยังเล่นมายากลไม่เก่งเท่าที่ลูกๆ คาดหวัง แต่เมื่อได้เรียนเพิ่มเติม ก็ถึงจุดที่ลูกๆ พอใจ กระทั่งสามารถถ่ายทอดให้เด็กๆ ได้วิชาติดตัวไปประกอบอาชีพ

“เขาดีใจมากเลย เขาบอก มายากลมันสร้างรายได้ให้เรา โดยที่เราแสดงให้เขามีความสุข น้องหลายๆ คน โดยเฉพาะน้องปิยะวัฒน์ ที่เขาใช้มายากล เขาเขียนหนังสือมา พ่อ ผมได้มายากลของพ่อ เวลาผมทำงานแล้ว เขามีงาน meeting ปีใหม่ ผมเอามายากลของพ่อไปโชว์ เขาทึ่งมากเลย ก็ได้จากพ่อมา เราก็ดีใจ อย่างน้อยๆ มีลูก 1 คน 2 คน ได้ติดตัวไป”

การดูแลช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนของครูโจ่ย แม้จะได้รับการสนับสนุนเป็นสิ่งของบริจาคจากองค์กรเอกชนและมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่อยู่ใกล้เคียง แต่บางครั้งครูโจ่ยก็ต้องควักกระเป๋าตัวเองช่วยด้วยอีกทาง ซึ่งแม้เด็กเร่ร่อนที่ครูโจ่ยเคยดูแล จะเติบใหญ่มีครอบครัวกันไปแล้ว แต่เมื่อลูกๆ เดือดร้อน พ่อพระอย่างครูโจ่ยก็ไม่เคยปฏิเสธ เมื่อได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือ

“น้องมีลูกมีครอบครัวแล้ว กลุ่มเร่ร่อนด้วยกัน โทรมา พ่อลูกหนูไม่สบาย พ่อมีสัก 400-500 ไหม เราก็เข้าใจ ลูกโทรมา จริงไม่จริง เราต้องช่วยไว้ก่อน พ่อมี 500 เดี๋ยวพ่อโอนไปสัก 300 ก่อนนะลูก ก็ช่วยเขาไป มีหลายเคส บางอย่างก็โดนจับ ตำรวจโทรมา ครูโจ่ย ลูกครูไปลักของเขาอีกแล้วนะ เอาอย่างไรเนี่ย ก็บอก เอาอย่างนี้ได้ไหม ผู้กอง ถ้าน้องเขาไม่ได้มากอะไร ช่วยน้องเขาสักนิดเถอะ โอเค ครูโจ่ยดูแลน้องหน่อยนะ เดี๋ยวผมพูดคุยกับเจ้าของร้านให้ ว่าเป็นลูกครูโจ่ย แต่คงเมากาว เห็นไอติม ก็จะหยิบกินอย่างเดียว ก็เข้าใจ เขาก็ช่วยสิ่งที่เขาพอช่วยได้”

น่าดีใจที่ปัจจุบันเด็กเร่ร่อนในพื้นที่ที่ครูโจ่ยรับผิดชอบลดน้อยลงจนแทบไม่มีแล้ว ครูโจ่ยจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ หันมาเสริมสร้างความรักความเข้าใจให้เกิดกับทุกครอบครัวในชุมชน เพื่อลดปัญหาเด็กเร่ร่อน

“เรารู้ปัญหาแล้วว่า เด็กออกมาเร่ร่อนตามท้องถนนเพราะอะไร เรื่องครอบครัว เราก็มุ่งประเด็นเข้าไปในชุมชน โรงเรียนเลย เพื่อบอกครอบครัวเขา ลูกเราถ้าไม่ดูแล ต่อไปถ้าเขาไม่พอใจคุณ อีกหน่อยเขาก็ออกไปใช้ชีวิตตามท้องถนน เราจะไปสร้างกำแพงไว้ไม่ให้เด็กกระโดดออกมา เลยเดินไปบอกในชุมชนเรื่องความรัก ความเข้าใจ สุดท้าย การให้อภัย น้องเขาจะทำผิดสักกี่ครั้ง ให้อภัยเขา ครั้งหน้ามันคงจะนึกได้อะ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว ก็ตีจนเลือดออก พอครอบครัวเริ่มเข้าใจ เราก็จะบอกเด็กด้วยว่า ที่พ่อแม่เราเป็นแบบนี้ เพราะ 1.เขารักเรา เราต้องลดความโมโหให้น้อยลง เราต้องสงสารพ่อแม่ด้วย เขาทำงานหนักเพราะเรา เขาอยากให้เราได้ดี เมื่อครอบครัวเข้าใจกันแล้ว เด็กก็ไม่ออกมาจากบ้าน เราก็มีความสุขกับสิ่งที่เราได้ทำ”

ครูโจ่ย ร.ต.อ.ชาติชาย โจ่ยสา กับ 20 ปีที่ช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนมา เขายอมรับว่า ความสุขของเขา อยู่ที่การให้ เมื่อให้แล้ว ผู้รับดีใจ ความดีใจนั้นก็สะท้อนกลับมา ทำให้เขามีความสุขไปด้วยเช่นกัน

ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

รับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos

กำลังโหลดความคิดเห็น