xs
xsm
sm
md
lg

ลึกทันใจ : อภิมหาโปรเจกต์ EEC พลิกโฉมเมืองไทยให้โชติช่วงชัชวาล!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน อภิมหาโปรเจกต์ EEC พลิกโฉมเมืองไทยให้โชติช่วงชัชวาล!! ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันพุธที่ 19 ธันวาคม 2561



จากการเปิดเผยของดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการอภิมหาโปรเจคต์นี้ ว่า ขณะนี้กำลังเร่งเดินหน้าไปพร้อมๆกันทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการ การส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาการท่องเที่ยว การพัฒนาสาธารณูปโภคและพัฒนาเมือง และ การส่งเสริมพัฒนาการศึกษาและเทคโนโลยีของชุมชน
ในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการคือ

1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา ได้เปิดประมูลแล้ว อยู่ระหว่างที่การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังพิจารณาข้อเสนอของ CP เนื่องจากมีความเหมาะสมมากกว่าค่ายของ BTS

2. โครงการการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน มีบริษัทเอกชนยื่นซื้อซองประมูลถึง 42 บริษัท จาก 7 ประเทศ และจะมีการเปิดรับข้อเสนอในปลายเดือน ก.พ. 2562 ซึ่งรัฐบาลมั่นใจว่าสนามบินอู่ตะเภาจะกลายเป็นเมืองการบินภาคตะวันออกใน 5 ปีข้างหน้า รองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 ล้านคนต่อปี และในอีก 10 ปีข้างหน้าพื้นที่จากพัทยา-ระยอง จะกลายเป็นศูนย์กลางการขยายตัวของการพัฒนาโดยรอบไปสู่การเป็น มหานครการบินภาคตะวันออก ในที่สุด

3. โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทการบินไทยและบริษัท Airbus ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นโครงการเทคโนโลยีระดับสูงที่ Airbus ไม่เคยลงทุนกับใครมาก่อน คาดว่าศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งนี้จะเปิดได้ในปี 2565 ตามแผนเปิดให้บริการเฟสแรก ตั้งแต่ปี 2565-2583 สามารถรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานได้สูงสุด 80-100 ลำต่อปี ก่อนจะขยายโครงการเพิ่มในเฟส 2 หลังจากปี 2583 เป็นต้นไป โดยการบินไทยตั้งเป้าหมายว่าศูนย์ซ่อมแห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับโลก

4. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการพัฒนาให้แหลมฉบังเป็นท่าเรือระดับภูมิภาค เพิ่มความสามารถในการรองรับการขนถ่ายสินค้า ขณะนี้มีผู้ยื่นซื้อซอง TOR แล้ว 32 ราย และจะเปิดรับข้อเสนอช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2562

5. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการขยายท่าเรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนส่งทางท่อของประเทศไทย ซึ่งเน้นการขนถ่ายสินค้าพลังงาน ขณะนี้มีผู้ยื่นซื้อซอง TOR แล้ว 18 ราย

รวมมูลค่า 5 โครงการนี้ใช้เงินลงทุนรวม 6.5 แสนล้านบาท เป็นเงินของรัฐ 2 แสนล้าน ที่เหลือได้ดึงเอกชนมาร่วมลงทุน และใน 2 แสนล้านบาทนี้ รัฐไม่ได้ลงทุนเป็นเงินทั้งหมด บางส่วนก็เป็นที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐอยู่แล้ว ในส่วนของผลตอบแทนของรัฐคาดว่าน่าจะได้เกิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก

ส่วนเรื่องการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ดร.คณิศ ชี้แจงว่า รัฐบาลจะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทสูงในการสร้างเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยในอนาคตก่อน เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติในสายการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศและภูมิภาคอาเซียน โดยมุ่งเน้นหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการบินและลอจิสติกส์ โดยอุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะโตเร็วที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ขณะที่การขนส่งลอจิสติกส์ที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ จึงเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมดิจิทัล จะทำให้เกิดธุรกิจพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพคือ การผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง เป็นต้น

สำหรับเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยว รัฐบาลได้จัดงบประมาณพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เช่น ทำเลนจักรยาน มีการผลักดันเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง จ.ระยอง พัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราให้เป็นเมืองคู่แฝดของกรุงเทพฯ โดยมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต-ฉะเชิงเทรา ซึ่งให้บริการคนที่ทำงานในกรุงเทพฯ แต่ออกไปหาบ้านพักที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความแออัดในเมืองแล้ว ในอนาคตเศรษฐกิจของฉะเชิงเทราจะขยายตัวและกลายเป็นศูนย์กลางของแหล่งงานเช่นเดียวกับกรุงเทพฯด้วย

ซึ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เท่านั้น รายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการอภิมหาโปรเจคต์นี้ยังมีอีกมากมาย ที่จะทำให้การลงทุนเติบโตขึ้นไปได้อีกมาก เห็นได้จากก่อนหน้านี้การลงทุนของไทยขยายตัวแค่ 3% ส่งผลให้ GDP เติบโต 2% แต่หลังจากที่เริ่มขับเคลื่อนโครงการ EEC การลงทุนขยายตัวถึง 10% ทำให้GDP เติบโตถึง 5% คาดว่าโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์จะทำให้ไทยโชติช่วงชัชวาลกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภูมิภาคแถบนี้อย่างแน่นอน

ทีมข่าวลึกทันใจ รายงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น