xs
xsm
sm
md
lg

ลึกทันใจ : รู้ยัง! อีก 5 ปี กรุงเทพฯ จะเป็นมหานครระบบรางอันดับ 3 ของโลก!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน รู้ยัง! อีก 5 ปี กรุงเทพฯ จะเป็นมหานครระบบรางอันดับ 3 ของโลก!! ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน 2561



ปัญหาการจราจรติดขัดได้อยู่คู่กับชาวกรุงเทพฯมานานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนกรุงฯไปแล้ว หลายรัฐบาลที่ผ่านมาก็พยายามแก้ไขกันอย่างเต็มที่ จนในที่สุดระบบการขนส่งด้วยระบบรางจึงเข้ามาตอบโจทย์ต่อปัญหานี้ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนเมืองหลวงดีขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง และขณะนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งก็ไม่นานเกินรอ นับจากนี้อีก 5 ปี ระบบรางทั้งหมดจะสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯกับชานเมืองเข้าด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นมหานครแห่งระบบรางที่จะพลิกโฉมการคมนาคมและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เฟื่องฟูไม่แพ้เมืองใหญ่ ๆ อื่น ๆ ในโลก และเชื่อหรือไม่ว่า หากโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ ก็จะทำให้กรุงเทพฯก้าวขึ้นแท่นของการเป็นเมืองที่มีโครงข่ายรถไฟฟ้ายาวเป็นอันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว จะเป็นรองก็เพียงเซี่ยงไฮ้ของจีนและกรุงโซลของเกาหลีใต้เท่านั้น!!

ด้านดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ประธานวิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เห็นว่าที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมก็ได้เร่งพัฒนาระบบรางเพื่อขยายโครงข่ายเส้นทางให้เชื่อมโยงครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยช่วง 4 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติโครงการระบบราง 13 โครงการ วงเงินรวม 916,779 ล้านบาทวางเป้าหมายภายในปี 2566 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า จะพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทระยะที่ 1 ให้สำเร็จ ซึ่งจะส่งผลให้มีเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความยาวรวมกันถึง 464 กิโลเมตร ขึ้นแท่นเป็นเมืองที่มีโครงข่ายรถไฟฟ้ายาวเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเซี่ยงไฮ้ ที่มีเส้นทางยาวอันดับ 1 คือ 588 กิโลเมตร และกรุงโซล ที่มีเส้นทางยาวเป็นอันดับ 2 คือ 508 กิโลเมตร

มีการคาดกันว่าในปี 2566 เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าครบทุกเส้นทาง ประชาชนจะหันมาใช้บริการระบบรางมากขึ้น สัดส่วนผู้ใช้รถไฟฟ้าจะเพิ่มจากปัจจุบันประมาณ 1 ล้านคน/วัน เป็น 5 ล้านคน/วัน ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาการจราจรแออัดลดลง ปัญหามลพิษทางอากาศก็จะลดลงตามไปด้วย คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่เกิดตามมาก็คือประชาชนจะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระมากเกินไป

ตัวอย่างหนึ่งที่จะพลิกโฉมกรุงเทพฯในอีก 5 ปีข้างหน้าก็คือที่ “สถานีกลางบางซื่อ” จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางด้วยระบบรางยุคใหม่ ที่เชื่อมต่อการเดินทางได้กับรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง เชื่อมโยงการเดินทางจากในกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด รวมถึงโครงข่ายกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย พร้อมกับจะมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบเป็น Smart City ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ รวมถึงพัฒนาพื้นที่มักกะสัน ขนาด 150 ไร่ ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการเชื่อมโยงการเดินทางไปยังระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ รวมถึงเชื่อมโยงการเดินทางไปยังเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อน่ากังวลอยู่ว่า ระบบรางที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่มีหน่วยงานที่จะรับผิดชอบการดำเนินโครงการ ดูแลการเดินรถ การซ่อมแซมระบบราง และการพัฒนาพื้นที่รอบโครงการโดยตรง ดังนั้นรัฐบาล ควรต้องรีบจัดตั้ง “กรมราง” ขึ้นมาดูแลรับผิดชอบภารกิจนี้ และควรจัดสรรงบประมาณมาใช้ในการก่อสร้างและซ่อมแซมระบบราง แทนที่จะให้เอกชนแบกรับภาระฝ่ายเดียว เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลให้ค่าโดยสารมีอัตราที่สูงเกินไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ใช้บริการเดือดร้อน และงบประมาณตรงนี้ ก็ควรมาจากการเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินและเจ้าของอาคารที่ได้รับประโยชน์จากมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ที่คาดว่าจะทำให้ราคาที่ดินโดยรอบเพิ่มขึ้นถึง 5-10 เท่าตัว ซึ่งส่วนใหญ่โครงการเหล่านี้มักเข้าไปกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรในการทำธุรกิจ จึงควรแบ่งสรรรายได้ส่วนหนึ่งจ่ายเป็นภาษีเพื่อรัฐจะได้นำไปใช้ในเพื่อการพัฒนาต่อไป ก็จะ win-win กันทุกฝ่าย

ทีมข่าว ลึกทันใจ รายงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น