รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 17 พ.ย.2561 พาคุณผู้ชมไปพบกับเรื่องราวของ "สตังค์" หนุ่มปักษ์ใต้ ผู้ดำเนินรายการ ภัตตาคารบ้านทุ่ง ที่ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องใช้ใบปริญญาเป็นใบเบิกทาง แถมยังมีจิตอาสา ลุกขึ้นมาทำความดีเพื่อสังคม เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของในหลวง รัชกาลที่ 9
สตังค์ หรือจรงศักดิ์ รองเดช ถือว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในงานด้านสื่อสารมวลชนและการผลิตรายการ จากการเป็นผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการ ภัตตาคารบ้านทุ่ง ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แต่สิ่งที่น่าสนใจของผู้ชายคนนี้ ไม่ได้อยู่แค่ว่า เขาประสบความสำเร็จได้ทั้งที่ไม่มีต้นทุนทางสังคมอะไรเลย ไม่ว่าจะฐานะ หน้าตา หรือการศึกษา แต่เขายังเป็นผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่ง ซึ่งมุ่งมั่นทำความดี และยอมทิ้งใบปริญญา เพื่อเดินหน้าทำความดีอีกด้วย
"เป็นเด็กต่างจังหวัด เด็กปักษ์ใต้ อยู่ จ.ตรัง เรามีฐานะลำบากยากจน ครอบครัวมีลูก 7 คน เพราะงั้นเสื้อของพี่ไปโรงเรียนจะไม่เคยได้เสื้อใหม่ เราจะได้เสื้อมรดกจากพี่คนนั้นคนนี้ เสื้อสีขาวของพี่ มาถึงพี่จะเป็นสีเหลือง คนอื่นพ่อแม่ไปส่งโรงเรียน ของเราต้องไปเก็บน้ำยาง ขี้ยางก็จะติดตามมือหน้าแขน เราต้องเดินไปโรงเรียน ลูกคนอื่นมีเนื้อวัวผัด ใช้กุ้งกุลา ของเรามีปลาเค็ม และไข่ต้ม" สตังค์เล่าย้อนชีวิตความยากจนในวัยเด็กให้ฟัง
หลังเรียนจบ ม.1 ที่ จ.ตรัง พี่ชายที่ จ.สุโขทัย พาไปอุปการะ จึงเรียนที่นั่นต่อจนจบ ม.6 พร้อมช่วยงานบ้านพี่ชาย เรียกได้ว่า งานที่แม่ศรีเรือนควรจะทำ สตังค์ทำเป็นหมด
หลังจบ ม.6 สตังค์ได้เข้ากรุงเทพฯ และตัดสินใจที่เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อจะได้สามารถทำงานไปด้วยได้ พร้อมฝันอยากทำงานสื่อสารมวลชน
ประเดิมงานแรก ผู้ช่วยช่างภาพนิตยสาร SILK MAGAZINE
"เข้าไปทำที่ SILK วันแรก ได้รับค่าจ้างเป็นพับกล่องรายวันด้วยซ้ำ 60 ใบ 1 บาท พับกล่องใส่เน็คไท คือเอากล่องที่สกรีนเป็นผ้าไหม พับขึ้นรูปเป็นกล่องที่จะสอดเน็คไทเข้าไป 60 ใบได้ 1 บาท เราทำงานรายวันตั้งแต่แบบนั้นเลย จนวันหนึ่งได้ 80 บาท มือนี่แดงไปหมด พอทำไปๆ เขาเห็นเราตั้งใจ เลยรับเราเป็นผู้ช่วยและหลังจากนั้นเขาเปิดร้านอาหาร ก็ให้เราไปเป็นผู้ช่วย"
หลังช่วยงานร้านอาหารจนธุรกิจของเจ้าของอยู่ตัวแล้ว สตังค์ จึงลาออก เพราะไม่ชอบทำงานในห้องแคบๆ แต่ชอบการเดินทางมากกว่า
และแล้ว ฝันที่อยากทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชนก็วิ่งผ่านหน้าเขาแบบไม่ทันตั้งตัว
"เรานั่งรถเมล์แล้วมันผ่าน รถบันทึกเทปโทรทัศน์มันผ่านแวบไป สมัยก่อนรถกองถ่ายจะติดคำว่า บันทึกเทปโทรทัศน์ ไว้ที่ด้านหลัง เรากำลังนั่งรถในเส้นถนนลาดพร้าว ซึ่งรถกำลังติดไฟแดง และรถนั้นผ่านอีกช่องทางหนึ่ง เราหันไป แสดงว่ามันต้องอยู่ถนนเส้นนี้แน่ แต่ไม่รู้ซอยไหน คิดดู ลาดพร้าวทั้งถนน (ถาม-ไปตามหารถคันนี้?) รถที่เขียนว่าบันทึกเทปโทรทัศน์ (ถาม-เพื่อ?) เพื่อจะไปสมัคงาน (ถาม-คิดไหมว่า จะไปทำอะไรกับเขา?) บอกอย่างเดียวว่าจะไปใช้แรงงาน จะไปเป็นผู้ช่วย เรารู้ว่าเราสามารถช่วยได้ แบกหามขากล้อง มาด้วยใจ"
สตังค์ต้องใช้เวลาเดินเข้าซอยนั้นออกซอยนี้ของถนนลาดพร้าว เพื่อหารถที่เขียนว่า "บันทึกเทปโทรทัศน์" คันนั้นถึง 7 วันกว่าจะเจอ
"ประมาณ 7 วัน เจอ ประมาณ 3-4 บริษัทด้วยซ้ำ แต่เจอแล้ว เขาไม่ได้รับ จนมีบริษัทหนึ่งเขารับ แต่ไม่ได้รับเป็นผู้ช่วยช่างภาพ รับเพื่อเป็นพนักงานธุรการ เขาบอกตอนนี้ตำแหน่งผู้ช่วยช่างภาพไม่ว่าง ให้น้องมาทำธุรการก่อน จนวันหนึ่งผู้ช่วยช่างภาพของเขา ตากล้องของเขาโดนไล่ออก เขาเลยถามว่า ยังสนใจตำแหน่งผู้ช่วยฯ อยู่ไหม เราก็สนใจสิ ทำรายการท่องเที่ยว เราก็ฝึกการเป็นผู้ช่วยช่างภาพ หลังจากนั้นก็พัฒนาขึ้นมาเป็นช่างภาพ จนทำให้เราได้เดินทางไปทั่วเลย ก็สมอย่างที่ใจเราคิดแล้ว"
หลังทำงานที่นั่นจนถึงจุดอิ่มตัว สตังค์เริ่มมองหางานใหม่ ที่ให้จิตวิญญาณมากกว่าเน้นที่วัตถุ
"ตอนนั้นสารคดี ช่วงที่มันฮอตที่สุดในบ้านเมืองเราคือ สารคดีรายการ คนค้นฅน เรารู้สึกว่ารายการท่องเที่ยว มันยังไม่ให้เรื่องจิตวิญญาณ การทำรายการท่องเที่ยว ถ่ายทอดเรื่องราวสิ่งของโอท็อป มันไปอยู่กับวัตถุซะมากกว่า แต่คนค้นฅนมันให้จิตวิญญาณบางอย่าง เหมือนเราดูรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ มันให้ skill ทางความคิด ที่จะเป็นตัวจุดประกายให้กับผู้คน ที่ดูแล้วอยากจะลุกขึ้นมา ใช้พลังภายในขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง ตอนนั้นรายการที่จะให้ความรู้สึกของผู้คนในสังคมได้ก็คือ รายการคนค้นฅน ก็เลยไปสมัคร และได้ทำคนค้นฅน ตำแหน่งช่างภาพ"
งานสมความตั้งใจ แต่เรื่องเรียน ยอมทิ้งใบปริญญา!
"พอได้เดินทางมากเข้า ทำให้ค้นพบบางอย่างว่า ถ้าเราไม่มีปริญญาตรี เราจะทำความดีได้เปล่า จึงตั้งหัวข้องานวิจัยด้วยตัวเองขึ้นมา 1 หัวข้อว่า ถ้าเราไม่มีปริญญาตรี เราจะทำความดีได้หรือเปล่า พี่เลยเอาตัวเองเป็นตัวพิสูจน์ งั้นเลิกเรียน (ถาม-อธิบายความดีกับปริญญาตรีมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร?) ง่ายๆ เลย เด็กที่เรียนในรั้วมหาลัย ปรารถนาของเขามี 2 อย่าง 1.เพื่อได้ความรู้ 2.เพื่อให้ได้ใบปริญญาตรี ซึ่งปัจจุบัน น้องๆ ที่ดูรายการอยู่วันนี้ หรือกำลังศึกษาปริญญาตรีหรือปริญญาอะไร ลองถามตัวเอง สิ่งที่คุณต้องการคือความรู้หรือใบปริญญา แต่ที่พี่ต้องการคือความรู้ที่จะมาพัฒนาศักยภาพ พี่เลยมองว่า ถ้าความรู้ นอกมหาวิทยาลัยก็มีมากมาย ที่เราได้เดินทางคือความรู้ทั้งนั้น แต่อาจไม่มีใบปริญญาให้พี่นะ พี่ต้องเลือก ถ้าพี่เลือกใบปริญญา พี่ต้องลาไปสอบ ไม่ได้ไปออกกอง ส่งผลกระทบต่อผู้คน เลยตัดสินใจว่า งั้นพอ ไม่จำเป็นต้องมีปริญญาตรี แต่เราตั้งมั่นที่จะทำความดี ถ้าเราตั้งมั่นทำความดีอย่างเต็มกำลังแล้ว มาพิสูจน์กันว่า เมื่อพี่ไม่มีปริญญาตรี แล้วพี่จะทำความดีได้หรือเปล่า"
หลังทำงานกับทีวีบูรพา ผู้ผลิตรายการ คนค้นฅน อยู่หลายปี สตังค์เริ่มเห็นว่า กระแสสังคมขณะนั้นวิพากษ์วิจารณ์เยาวชนในทางไม่ดีว่า มั่วสุม กินเหล้า เสพยา ซึ่งเขามองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เยาวชน แต่อยู่ที่สิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่มีแต่ภาพโป๊เปลือย ลามกอนาจารขึ้นปก เขาจึงอยากทำนิตยสารสักเล่ม เพื่อนำเสนอเรื่องสร้างสรรค์ของเยาวชน จึงตัดสินใจลาออกจากทีวีบูรพา แต่จนแล้วจนรอด เขาก็ไม่ได้ทำนิตยสารนั้น เพราะหาผู้สนับสนุนไม่ได้!
เมื่อขอทุนใครเพื่อทำสื่อสร้างสรรค์เกี่ยวกับเยาวชนไม่ได้ คุณสตังค์จึงกลับมาคิดใหม่ว่า ตนเองมีความสามารถอะไรมากที่สุด แล้วก็พบคำตอบว่า คือการผลิตสารคดี และนั่น จึงเป็นที่มาของรายการ “ภัตตาคารบ้านทุ่ง”
"รายการนี้นำเสนอวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของพ่อแม่พี่น้องทุกภูมิภาค คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่รักในวิถีของการอาศัยอยู่กินพึ่งพาธรรมชาติ และยังต้องการเรียนรู้เรื่องราวภูมิปัญญา คือบุคคลเป้าหมายหลักที่เราอยากให้เขารู้ คือคนที่ยังสนใจเรื่องสังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ความเชื่อ สิ่งแวดล้อม โภชนาการ สมุนไพร หรือเรียกง่ายๆ ว่า จิตวิญญาณของการเป็นมนุษย์ มิใช่สักแต่กิน แต่สิ่งที่คุณจะกิน มีรากเหง้า มีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่คุณเรียนรู้ผ่านวัฒนธรรมการกินได้ อาหาร 1 จานที่คุณกว่าจะได้กิน มันมีเรื่องเล่า มี story มีความรักในอาหารด้วยนะ แต่ทุกวันนี้คุณกินเพื่อให้อิ่มหรือเพื่อเรียนรู้"
ไม่ได้ทำรายการเพื่อเรตติ้ง แต่ได้ทั้ง "เรตติ้ง-รางวัล"
"ถ้าเราต้องการทำรายการให้ได้เรตติ้ง เราคงไม่ทำรายการแบบรายการแบบภัตตาคารบ้านทุ่ง แต่เผอิญรายการนี้ทำแล้ว มันมีคนดู จึงมีเรตติ้งด้วย สังเกตไหมรายการที่จะมีเรตติ้ง ต้องมีดารามาดึงดูด รายการต้องมีผู้ที่เป็นเซเลบมาดึงดูดถึงจะมีเรตติ้ง แต่ภัตตาคารฯ ไม่มีเลย หน้าตาพี่ก็ไม่ดึงดูด วิทยฐานะปริญญาตรีก็ไม่มี ฐานะทางบ้านก็ไม่ดี การศึกษาก็ไม่ดี หน้าตาก็ไม่มี ทั้งหมดก็ไม่เห็นมีดีอะไร มีเหลืออย่างเดียวคือความสามารถที่เรามี ความสามารถจะเป็นดัชนีชี้วัดว่า คนนั้นมีคุณภาพหรือเปล่า จนแล้วจนรอด หลังรายการทั้งหมดในช่องไทยพีบีเอส ที่มีหลากหลาย 160 กว่ารายการ ภัตตาคารฯ ติด 1 ในอันดับต้นๆ ของสถานี จนเราได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ รางวัลสื่อมวลชนคาทอลิก ได้รับการโหวตเป็นอันดับ 1 ของสถานีผ่านช่องทางออนไลน์"
แม้ชีวิตและธุรกิจรายการจะประสบความสำเร็จ จนไม่มีอะไรน่าห่วง แต่การสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 9 ก็ทำให้สตังค์คิดว่า จะอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรสักอย่างไม่ได้
"หลังจากครบรอบ 1 ปีที่พระองค์สวรรคต วันที่ 13 ต.ค.60 เราได้เริ่มต้นโครงการ "๙ ต่อ BEFORE AFTER" ที่มาคือ หลังจากพระองค์สวรรคต เราช็อกไปเลย คนไทยทั้งแผ่นดินก็ช็อก ไม่มีใครที่ไม่รู้สึกเสียใจ เมื่อเราตั้งสติได้ เราเลยถามตัวเองว่า เราจะทำอะไรที่จะตอบแทนพระองค์ได้บ้าง เพราะก่อนท่านสวรรคต เราก็เป็นแค่คนไทยคนหนึ่งที่อยู่ร่มเย็นภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ ก็เลยไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอพระองค์สวรรคต กลับทำให้เราได้ฉุกคิดว่า วันนี้ วันต่อไป ไม่มีพ่อแล้วนะ เราจะทำอะไรต่อไป จะนิ่งเฉย และปล่อยให้เรื่องราวของพ่อเลือนหายไปตามกาลเวลา หรือเราจะนำพาแรงบันดาลใจจากศาสตร์พระราชา นำมาศึกษา ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และนำมาปฏิบัติ แล้วนำเรื่องนี้ส่งต่อความดีที่พ่อทำมาตลอด 70 ปี ให้ก้าวต่อไป ให้คนทั่วไปได้รู้จัก ให้ลูกหลานไทยได้รู้จัก และน้อมนำพระราชดำรัส ศาสตร์พระราชา ทฤษฎีใหม่ หรือเกษตรผสมผสานหรืออะไรแล้วแต่ ที่พระองค์คิดไว้กว่า 4,000 โครงการ กลับมารับใช้ชุมชนและสังคมประเทศได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือ เราต้องทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์"
โครงการ "๙ ต่อ BEFORE AFTER" ได้จัดกิจกรรมทำความดีเพื่อสังคมมาแล้ว 5 ครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ล่าสุด ได้จัดขึ้นอีกครั้งที่วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2561 ที่ผ่านมา ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ มีการประดิษฐ์สิ่งของหลายๆ อย่าง เช่น ทำที่วัดธนบัตร เพื่อนำไปแจกให้คนตาบอดใช้ เพราะหลายครั้งที่คนตาบอดถูกคนตาดีหลอก, มีการเย็บถุงผ้าให้โรงพยาบาลใช้ เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก, มีการเย็บตุ๊กตาช้าง สำหรับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, มีการถักยางยืด เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ออกกำลังกาย ฯลฯ
"โครงการ ๙ ต่อ BEFORE AFTER ไม่มีสมาชิก ไม่ต้องเสียค่าเป็นสมาชิก แต่เราจะเป็นกัลยาณมิตร นั่นหมายความว่า ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่ เพจ ๙ ต่อ BEFORE AFTER เป็นเพจกลางที่เราจะเชื่อมโยงสื่อสารกับสังคมว่า กิจกรรมเดือนนี้มีอะไร เดือนต่อไปมีอะไร จะขอความร่วมมือ ช่วยเหลือในทิศทางไหน เราจะไม่ขอรับเงินบริจาค อันนี้ชัดเจนมาก แต่เราอาจสื่อสารว่า ขอรับบริจาคสิ่งของ ไม่ใช่เพื่อเรา แต่เราจะให้คนนี้คนนั้น ตามมูลนิธิ หมู่บ้านต่างๆ และมากกว่านั้นคือ เราไม่จำเป็นต้องมาทำร่วมกันที่ส่วนกลาง คุณสามารถลุกขึ้นมาทำกับครอบครัวของคุณได้เลย วันเสาร์สิ้นเดือน คุณไปวัดใดวันหนึ่ง ไปขัดศาลาการเปรียญ ขัดห้องน้ำวัด กวาดลานวัด ไปลอกคูคลอง หรือทำประโยชน์ในหมู่บ้าน หรือไปทำกิจกรรมบ้านพักคนชรา ไปทำกิจกรรมกับสัตว์จรจัด หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่คิดว่าคุณทำได้ ที่ทำแล้วมีความสุข ก็สามารถร่วมกับโครงการ ถ่ายภาพก่อนทำ หลังทำ และติดแฮชแท็ก ๙ ต่อ และเราก็จะทำแบบนี้ทุกวันเสาร์สิ้นเดือน เพื่อให้เห็นเป็นพลังว่า ลูกหลานไทยตื่นตัวขึ้นมา แล้วทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ โดยไม่ได้หวังสิ่งใด หวังเพียงเราจะพัฒนาศักยภาพของความเป็นมนุษย์ให้บริสุทธิ์ ให้ใสยิ่งๆ ขึ้นไป และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้น เพื่อต่อสาธารณะ เพื่อโลกใบนี้นั่นเอง"
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
รับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos