รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน ใครจะได้ครองโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน !? ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2561
ความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินคือดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา หลังจากมีการยื่นซองข้อเสนอโครงการไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีผู้ยื่นเพียง 2 ราย จากนี้จะมีการประเมินซองในด้านคุณสมบัติ เทคนิคและการเงิน เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ และจะเสนอชื่อเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกให้กับคณะรัฐมนตรี ภายในวันที่ 31 มกราคม 2562 เพื่อลงนามสัญญาในวันนั้นด้วย
สำหรับเอกชน 2 รายที่เข้าท้าชิงเค้กชิ้นใหญ่ในอภิมหาโครงการนี้ ไม่ว่าใครจะชนะ ก็เชื่อว่าคะแนนจะไม่ทิ้งห่างกันมาก มีจุดชี้ขาดว่าใครจะใช้เงินของรัฐน้อยที่สุด และเมื่อครบสัญญา 50 ปีใครจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับรัฐได้มากที่สุด ก็จะเป็นผู้ชนะ ทีนี้ต้องมาเทียบกันว่า ใครจะเจ๋งกว่ากัน!
รายแรก กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
และรายที่ 2 คือกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) , China Railway Construction Corporation Limited ของจีน, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และยังมีพันธมิตรรายอื่นอีก เช่น Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development ของญี่ปุ่น CITIC Group Corporation ของSiemen ประเทศเยอรมนี Hyundai ประเทศเกาหลี และ Ferrovie dello Stato Italiane ของอิตาลี เป็นต้น
ในการเปิดตัวยื่นซองของ 2 ค่ายนั้น มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในมุมมองของ ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ประธานวิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย บอกว่า การที่บีทีเอสเปิดตัวกลุ่มทุนเพียง 3 รายชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ และอาจเป็นเพราะบีทีเอสมีประสบการณ์ด้านการเดินรถไฟระบบรางมานาน ทำให้สามารถคำนวณทุกอย่างได้แม่นยำว่ารายได้ต่างๆ จะมีจากไหนอย่างไร ซึ่งจะทำให้บีทีเอสมีโอกาสได้งานนี้
ส่วนซีพีเปิดทุกพันธมิตรเป็นการล็อกให้แน่ใจว่าใครจะเป็นsupplier ถ้าซีพีได้งาน ขณะที่ บีทีเอส ไม่เคยพูดเลยว่าใช้เทคโนโลยีอะไร ซึ่งก็ต้องลุ้นคะแนน ว่าใครจะชนะ แต่เชื่อว่าไม่น็อกแน่ แต่ต้องดูว่าชนะขาดกันกี่คะแนน ชนะด้วยอะไร กรรมการแต่ละคนให้คะแนนอย่างไร ซึ่งต้องไม่ลืมว่ารายได้จากค่าโดยสารไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายหรือค่าดำเนินการทั้งหมดได้ แต่รายได้หลักจะต้องอยู่ที่การพัฒนาธุรกิจ ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ในสัญญาไม่ว่าจะเป็นที่ดินมักกะสัน ที่ดินที่ศรีราชา และเส้นทางผ่าน ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้ ทั้งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ การค้าต่างๆ รวมไปถึง ธุรกิจบริการ ที่จะเชื่อมต่อโครงการ EEC และมองไปถึงเส้นทางการค้าที่จะทะลุไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ตรงนี้แหละคือแต้มต่อที่ซีพีมีสูงมาก ทำให้มีโอกาสคว้าชัยชนะได้
โครงการนี้ซีพีตั้งความหวังไว้มาก เพราะหากสามารถได้ชัยชนะได้ เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต มีการจ้างงานในภาคการก่อสร้าง และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ตามมาอีกมาก และจะร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อประมูลโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ช่วงระยอง-พัทยา ที่มีมูลค่า 3 แสนล้านบาท ต่อไปด้วย
อีกไม่นานเกินรอ ก็จะได้เห็นแล้วว่าใครจะได้หยิบชิ้นปลามันอภิมหาโครงการนี้ไปครอง!
ทีมข่าวลึกทันใจ รายงาน