รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2561 พาคุณผู้ชมไปพบกับเรื่องราวของ "แม่ตา" ผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งใน 60 ผู้บาดเจ็บจากเหตุคนร้ายวางระเบิดร้านก๋วยเตี๋ยวที่ จ.ยะลา เมื่อ 13 ปีก่อน เหตุการณ์ครั้งนั้น ไม่เพียงทำร้ายเธอ แต่ยังส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ของเธอด้วย
ตลอด 15 ปี ที่เกิดเหตุไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทำให้พี่น้องร่วมชาติเสียชีวิตไปกว่า 5,000 คน หลายคนแม้ไม่เสียชีวิต แต่ก็สูญเสียอวัยวะ หรือพิการตามมากว่า 10,000 ราย ด้วยเหตุนี้ โครงการ รวมหัวใจไปให้สุดที่แดนใต้ ที่ริเริ่มโดย คุณสัณณ์ชัย เองตระกูล จึงได้ร่วมกับสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ และมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ จัดกิจกรรมปั่นจักรยาน-ขี่เจ็ตสกี จากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อระดมเงินบริจาคช่วยเหลือเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส และเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือรัฐอีกแรงในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ
“ความสูญเสียของผู้คน รัฐจะดูแล ยกตัวอย่าง เสียชีวิต ก็จะมีส่วนหนึ่งที่เป็นงบประมาณชดเชย 5 แสนบาท และมีเงินประกันชีวิตจากทางภาครัฐ สำนักนายกฯ ประมาณ 5 แสนบาท สำหรับญาติที่สูญเสียไป ก็ต้องดูแลบุตรเขาเรียนจนจบปริญญาตรี ผู้บาดเจ็บก็ต้องดูว่า เล็กน้อย ปานกลาง สาหัส หรือพิการ ถ้าพิการก็ 5 แสนบาท เพราะเขาเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ ในหลายกรณี รัฐต้องเข้าไปดูแล บางครอบครัวอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้น บางครอบครัวสูญเสียคนในครอบครัว ก็เสียกำลังใจ ก็ต้องเข้าไปดูแล เติมเต็ม” พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เผยการเยียวยาที่ภาครัฐมีให้ผู้สูญเสียหรือได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้
ชนากานต์ เขียวยะ หรือพี่ตา คือ หนึ่งในผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดร้านก๋วยเตี๋ยวเรือโบราณที่ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2548 โดยก่อนเกิดเหตุ มีคนร้าย 2 คน ทำทีมารับประทานอาหาร จากนั้นวางกระเป๋าทิ้งไว้ที่โต๊ะ เมื่อเจ้าของร้านได้รับแจ้งว่า มีลูกค้าลืมกระเป๋า จึงหยิบกระเป๋าดังกล่าวขึ้นมา และเกิดระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 60 ราย ผู้เสียชีวิต ก็คือ เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวที่หยิบกระเป๋าดังกล่าว ขณะที่พี่ตา ซึ่งเป็นลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยวดังกล่าว และอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน บาดเจ็บสาหัส
“พี่เข้าใจว่าถังแก๊สระเบิด พอพี่ฟื้นขึ้นมา เสื้อผ้าขาดหมด สงสัยแก๊สระเบิด มองไปด้านหลัง หลังคาไปหมดเลย ไม่ใช่แล้ว ตอนนั้นเขากันคนเข้ามา เขากลัวลูกที่สอง” ชนากานต์ หรือพี่ตา เล่านาทีที่เกิดเหตุระเบิดวันนั้น
“ก็ตกใจ ทำอะไรไม่ถูกเลย รีบมาที่ร้าน เห็นสภาพร้านก็รับไม่ได้ ไม่เจอภรรยา เขาพาไป โรงพยาบาลแล้ว ก็ตามไปที่โรงพยาบาล ก็เข้าไปหาไม่ได้ เขาไม่ให้เข้า ใจหาย ห่วง (ถาม-ครั้งแรกที่เห็นภรรยาออกจากห้องไอซียู?) รับไม่ได้ แกพันทั้งตัวเลย พันแบบมัมมี่เลย” มานะ เขียวยะ สามีพี่ตา ซึ่งทำงานโรงงานใน จ.ยะลา เล่าสภาพภรรยาหลังประสบเหตุระเบิด
ไม่เพียงพี่ตาจะบาดเจ็บสาหัส แต่ยังกระทบถึงลูกในครรภ์ด้วย
“ตอนนั้นพี่ไม่คิดว่าลูกพี่จะอันตรายมาก ...พอกลางคืน 4 ทุ่มเขาเอาพี่ไปห้องผ่าตัด หมอบอกว่าน้องไม่ดิ้นนะ ให้พ่อเซ็น จะเอาน้องออก หมอบอกน้องเสียแล้ว พอพ่อเซ็นแป๊บหนึ่ง หมอออกมาบอกพ่อว่า น้องดิ้นแล้วนะ ไม่เอาน้องออกแล้วนะ” พี่ตาเล่านาทีชีวิตของลูกในท้องตอนนั้น
พี่ตาใช้เวลารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานเกือบ 3 เดือน กระทั่งคลอดลูกชายตามปกติ แต่สภาพเด็กไม่ค่อยสมบูรณ์ ตัวเล็ก น้ำหนักแรกคลอดแค่ 2 กิโลกรัมเศษ ผิวเหี่ยวย่น หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน พี่ตาเริ่มเห็นความผิดปกติของลูก
“พอ 3 เดือน น้องไม่สบตาพี่เลย น้องมองข้างบน พี่ก็พาไปปรึกษาหมอว่า ทำไมลูกไม่สบตาพี่ หมอก็ส่งไปดูอาการที่ มอ.ว่า สายตาน้องมองเห็นมั้ย หมอทางโน้นบอกว่า น้องสายตาปกติ แต่อาจเป็นเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการ ให้แม่ดูสัก 6 เดือน พี่ก็ดูๆ ตอนนั้นคอน้องก็ไม่แข็ง คอนิ่มๆ เราก็กังวล พี่ก็ไม่คิดว่าน้องจะเป็นเด็กพิการ พี่ก็ไปปรึกษาหมอ เขาก็ส่งไปเกี่ยวกับพัฒนาการ เขาก็บอก ลูกคุณแม่พิการนะ ช่วงนั้นพี่ตกใจมาก หมอพูดตรงๆ พี่ก็อึ้ง พอนานๆ พี่ก็ทำใจได้ พี่ก็พาแกรักษาตลอด”
แม่เสียใจที่ลูกพิการ แต่ยืนยันจะดูแลลูกให้ดีที่สุด
“เสียใจ จะพยายามดูแลลูก ทำให้ลูกให้ดีที่สุด เพราะเขาก็เป็นลูก ถึงเขาพิการ เราจะเอาไปไหน เขาก็เป็นลูก”
แม้ต้องเลี้ยงลูก แต่อยากช่วยสามีทำงาน
“ช่วงนั้นพี่จะขายผลไม้ช่วงเย็น พี่คิดว่าต้องทำงานอะไร ทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย (ถาม-ไม่คิดอยู่เฉยๆ อยากทำงานช่วยสามีอีกแรง?) เพราะพี่ต้องเลี้ยงลูกอีกคนหนึ่ง ลูก 2 คน ตอนนั้นลูกอยู่ ป.5 หรือ 6 ปัจจุบันถ้าแกมีชีวิตอยู่ก็อายุ 24 (ถาม-เสียชีวิตแล้ว?) จากการพลัดตกนั่งร้านนี่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว”
ขายผลไม้อย่างเดียว ไม่พอรายจ่าย หันไปรับจ้างทำงานบ้าน โดยเอาลูกไปด้วย
"นายจ้างบอกว่าพาน้องมาได้ พี่ก็ไปดูแลบ้าน ซักผ้า รีดผ้า ถึงเวลาก็พาลูกไปกายภาพวันละ 1 ชม. เสร็จแล้วก็กลับมาทำงานบ้านอีก บ่ายสามก็ไปรับลูกเจ้าของบ้านมาส่งโรงเรียน ไปเรียนพิเศษ 4 โมงก็พากันกลับบ้าน ทำไปสัก 2 ปีได้ พี่รู้สึกเหนื่อย เพราะเราต้องทำงานแข่งกับเวลา และรู้สึกว่าเวลาให้ลูกไม่พอ ป้อนๆ ข้าวลูก แต่ไม่รู้ลูกอิ่มหรือไม่อิ่ม เราต้องรีบไปทำงานของเขาแล้ว พี่เลยบอกเขาว่า พี่ขอลาออกนะ บอกว่าพี่เหนื่อย พี่ไม่มีเวลาให้ลูก”
ด้วยความรักและอยากดูแลลูก พี่ตาคิดว่า งานที่จะตอบโจทย์ให้เธอมีเวลาดูแลลูกด้วย ก็คือ เช่าที่เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ถึงจะเหนื่อยหน่อย แต่ได้เห็นหน้าลูก ก็มีความสุขแล้ว
“ถามว่าเหนื่อย มันก็เหนื่อย แต่เหนื่อย แล้วเราก็ยังเห็นว่าลูกเรายิ้ม ...(ถาม-อะไรทำให้พี่ไม่ยอมแพ้กับสิ่งที่เกิดขึ้น?) ทุกวันนี้ที่ทำก็เพื่อลูก อยากทำอะไรไว้ให้ลูก เผื่อวันหนึ่งเราไม่อยู่ ลูกจะได้มีคนดูแล (ถาม-นอกจากลูกมีใครอีกไหม?) มีพ่อแม่ ตอนนี้ก็เลี้ยงพ่อแม่อยู่ด้วย แต่อยู่คนละบ้าน วันจันทร์พี่หยุดร้าน ก็ซื้อกับข้าวไปให้ พ่อกับแม่ก็ดีใจที่มีพี่ (ถาม-เคยท้อไหม?) ไม่ เรามีงาน ถึงจะได้ไม่เยอะ แต่เราก็ยังได้เลี้ยงลูก ได้มีเงินกิน ได้เลี้ยงพ่อแม่ ก็ยังดีกว่าหลายคนที่ลำบากกว่าเรา (ถาม-ปัจจุบันมีความสุขจากสิ่งไหน?) มีความสุขจากการทำงาน ได้ไปไหนกับลูก ไปไหนก็พาลูกไปด้วยตลอด ไม่เคยอายคน เมื่อก่อนไม่มีรถเข็น พี่ก็อุ้ม”
แม้วันนี้ เหตุการณ์ที่เหมือนฝันร้าย ทำให้พี่ตาบาดเจ็บและลูกกลายเป็นคนพิการ จะผ่านมา 13 ปีแล้ว แต่เธอไม่เคยโกรธหรือโทษว่าใครทำให้ชีวิตเธอและลูกต้องเป็นแบบนี้
"ไม่เคยคิด เราคิดว่า มันเป็นโชคชะตาของเรา มันเป็นกรรมที่เราทำร่วมกันมากับน้องเขา เราต้องดูแลซึ่งกันและกัน แต่ไม่เคยโทษว่าเขามาทำให้เราเป็นแบบนี้”
"ขอบคุณหน่วยงานที่เข้ามาดูแล ช่วยเยียวยา ฝากไปถึงคนที่มีลูกแบบพี่ อย่าไปรังเกียจเขา ให้ความรักเขา เพราะเด็กแบบนี้ต้องได้ความรักเยอะกว่าเด็กปกติ เขาต้องการกำลังใจจากพ่อแม่และคนรอบข้าง พ่อแม่ที่มีลูกแบบนี้ เป็นกำลังใจให้เขา ดูแลเขา รักเขาเยอะๆ"
หากท่านใดต้องการมีส่วนร่วมช่วยเหลือน้องๆ เด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส หรือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถร่วมบริจาคได้ ผ่านบัญชี ธนาคารออมสิน ชื่อบัญชี รวมหัวใจไปให้สุด ที่แดนใต้ "สภาสังคมสงเคราะห์" เลขที่บัญชี 020-24688504-8
หรือบริจาคผ่านระบบ SMS พิมพ์ T (ทุกเครือข่าย) ส่งไปที่ 4899503 บริจาค 50 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
รับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/ หรือยูทูบ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos